สยองสุดๆ! พยาธิในอาหาร 5 ชนิด ที่แฝงอยู่ในจานโปรดของคุณ

พยาธิในอาหาร

พยาธิในอาหาร มีทั้งหมดกี่ชนิด ถ้าเผลอกินเข้าไปจะเป็นอันตรายหรือไม่ จะก่อผลเสียต่อร่างกายของเรายังไงบ้าง จะพบมันได้ในอาหารประเภทไหนบ้าง และเราจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันพยาธิเหล่านี้ได้อย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันแล้ว

5 พยาธิในอาหาร ที่พบได้บ่อย

1. พยาธิใบไม้ตับ (Liver Fluke)

พบในอาหารประเภท : อาหารที่ทำจากปลา และสัตว์น้ำจืด ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : มักไม่มีอาการในระยะแรก แต่เมื่อมีพยาธิสะสมอยู่เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการ ท้องอืด แน่นท้อง เจ็บบริเวณชายโครงขวา ร้อนบริเวณหน้าท้อง หากปล่อยทิ้งไว้ จะมีอาการอักเสบของท่อน้ำดี ดีซ่าน ตับโต มีไข้

เมื่ออาการร้ายแรงขึ้น ผู้ป่วยจะผอมซีด บวม บางรายเป็นโรคตับแข็ง มีน้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน และอาจกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

2. พยาธิตัวตืด (Tapeworms)

พบในอาหารประเภท : เนื้อหมู วัว ที่ปรุงไม่สุก หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาด และมีไข่พยาธิปนเปื้อน สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นเม็ดสาคู

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : หากผู้ป่วยได้รับพยาธิตืดหมูเข้าสู่ร่างกาย ตัวอ่อนของพยาธิจะไชเข้าสู่กระแสเลือด และเติบโตเป็นถุงตัวตืด สามารถพบได้ตามกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แม้แต่กล้ามเนื้อหัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง บางครั้งอาจคลำเจอเป็นเม็ด ๆ ใต้ผิวหนัง ส่วนพยาธิตืดวัว จะไม่ทำให้เกิดโรคในคน ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

3. พยาธิไส้เดือน (Ascariasis)

พยาธิในอาหาร

พบในอาหารประเภท : ผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาด มีไข่พยาธิปนเปื้อน มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : ผู้ป่วยจะมีอาการไม่ชัดเจน หรืออาจไม่มีอาการเลย และมักเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญ อาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายแบบ เช่น ซีด อ่อนเพลีย ปวดบวมตามผิวหนังแบบย้ายตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หากมีพยาธิจำนวน อาจเกาะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนจนอุดตันอวัยวะต่าง ๆ เช่น โพรงลำไส้ ทางเดินหายใจ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

4. พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma Spinigerum)

พยาธิในอาหาร

พบในอาหารประเภท : เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : ผู้ป่วยโรคพยาธิตัวจี๊ดมักไม่มีอาการรุนแรง โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ บวมตามผิวหนังเป็นก้อน บวม ๆ ยุบ ๆ และเคลื่อนที่ได้ อาการรุนแรงที่พบได้คือ พยาธิไชเข้าไปในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ตา ทำให้เกิดอาการอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

5. พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis)

พยาธิในอาหาร

พบในอาหารประเภท : ปลาทะเลที่ไม่สุก หรือปลาดิบ

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : มักปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย เมื่อเคลื่อนที่ไชไปในกระเพาะอาหาร และลําไส้ ซึ่งจะทําให้เกิดแผลขนาดเล็ก และอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ มักมีอาการ ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด อาการคล้ายกับ โรคกระเพาะอาหาร อาจมีอาการท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือด ถ้ามีแผลในกระเพาะอาหารขนาดใหญ่

วิธีหลีกเลี่ยงพยาธิจากอาหาร

• เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตดูว่ามีตัวอ่อนพยาธิ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนอยู่หรือไม่ และไม่หยิบอาหารที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปากเด็ดขาด

• หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ ๆ หรือทำให้สุกด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ

• การบีบมะนาวไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เพียงแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น

• หากต้องการกินผักสดแบบดิบ ๆ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หรือแช่ด้วยด่างทับทิมหรือน้ำส้มสายชู

• ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหาร และเมื่อกินอาหาร

ยาถ่ายพยาธิ จำเป็นแค่ไหน?

หลายคนอาจระแวงว่า ในร่างกายของตัวเองอาจจะมีพยาธิอยู่ และอยากจะหายาถ่ายพยาธิมากิน แต่ความจริงแล้ว ยาถ่ายพยาธิ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย โดยเฉพาะถ้าคุณไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อาศัยในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ เช่น ชอบทานอาหารดิบ ๆ หรืออาหารที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ อยู่เป็นประจำ

แต่หากมีอาการผิดปกติ ที่ทำให้สงสัยว่าอาจได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เช่น มีอาการ ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ หรืออาการคันที่ก้น (เนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบ ๆ ทวารหนักตอนกลางคืน) ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดของพยาธิที่ได้รับ เพราะพยาธิบางชนิด ต้องใช้ยาถ่ายพยาธิแบบเฉพาะ จึงจะสามารถกำจัดออกมาได้

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close