หัดสังเกต ปัสสาวะ กันดีกว่า ช่วยเตือนภัยเรื่องโรคร้ายได้นะ

โดยทั่วไปแล้วร่างกายของมนุษย์เราจะมีกลไกในการขับถ่ายของเสียอยู่ด้วยกัน 4 ช่องทางใหญ่ ๆ นั่นคือ ลมหายใจ เหงื่อ อุจจาระ และ ปัสสาวะ อย่างหลังสุดที่เรากำลังพูดถึงนี้ มีอวัยวะสำคัญที่ทำงานสัมพันธ์กันอยู่ตั้งแต่ ไต กระเพาะปัสสาวะ เรื่อยมาจนถึงท่อปัสสาวะ ซึ่งหากความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้น ‘บางอย่าง’ ก็สามารถฟ้องผ่านทาง ‘ปัสสาวะ’ ได้อย่างรวดเร็ว

ปัสสาวะ ทำนายโรค

ความผิดปกติของปัสสาวะยังสามารถบอกภาวะที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้อีกมาก และเพื่อให้คุณสามารถรับมือกับปัสสาวะที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น เรามีวิธีตรวจเช็คปัสสาวะด้วยตัวเองมาแนะนำ

1. เช็คความถี่ของปัสสาวะ

ในเวลากลางวัน คนทั่วไปควรจะปัสสาวะประมาณ 4-6 ครั้ง แต่หากน้อยกว่านั้น หรือไม่ปวดปัสสาวะเลย ก็อาจเป็นตัวบ่งว่า คุณกำลังเป็นโรคไตระยะเริ่มต้น รวมถึงโรคหัวใจ หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไปที่ไตไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากการขาดน้ำอย่างมาก รวมถึงภาวะช็อค

ในเวลากลางคืน คนปกติควรจะปัสสาวะอยู่ประมาณ 0-1 ครั้ง ในกรณีที่ลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยครั้งในช่วงกลางคืนก็บ่งบอกได้ถึงการเกิดโรค อย่างการขาดฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน เมื่อขาดฮอร์โมนชนิดนี้ คนไข้จะลุกขึ้นมาปัสสาวะถี่มากขึ้น นอกจากนี้ในคนที่ขาดฮอร์โมน ADH (Lactate Dehydrogenase) ซึ่งหมายถึงการเป็น โรคเบาจืด ก็จะอยู่ในภาวะปัสสาวะบ่อยและจำนวนมากขึ้น

2. เช็คสีของปัสสาวะ

ในคนปกติ สีของปัสสาวะควรมีสีเหลืองอ่อน ๆ คล้ายฟางข้าว แต่ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปได้หลายสี เช่นในกรณีที่ขาดน้ำหรือกระหายน้ำ รวมถึงวันที่อากาศร้อนมากจนเสียเหงื่อมากขึ้น ปัสสาวะก็จะมีสีเข้มขึ้น เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ช่วยรักษาระดับของน้ำภายในร่างกาย ในช่วงที่ขาดน้ำ ไตจะรักษาระดับของน้ำภายในร่างกายมากขึ้น เราจึงปัสสาวะน้อยลง และสีของปัสสาวะก็จะเข้มขึ้น

ในกรณีที่ปัสสาวะมีสีอื่น ก็สามารถบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติได้ เช่น

สีแดง หรือมีเลือดปน อาจหมายถึงการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะ หรือจากนิ่ว

สีเขียว หรือสีเหลืองปนส้ม อาจหมายถึงการเป็นโรคเลือด ที่มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงมาก

สีเหลืองปนเขียว อาจหมายถึงการเป็นโรคตับ หรือสีอื่น ๆ อย่างสีน้ำเงิน อาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิด นอกจากนี้การรับประทานวิตามินในกลุ่มวิตามิน B ซึ่งจะทำให้สีของปัสสาวะเข้มขึ้นจนมีสีเหลืองคล้ายน้ำเก็กฮวย แต่เป็นภาวะนี้หายได้เอง เมื่อร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเหล่านั้นได้ดีขึ้น ภายหลังรับประทานต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์

3. กลิ่นของปัสสาวะ

โดยปกติแล้วกลิ่นของปัสสาวะมักจะคล้ายกลิ่นของยูเรีย หรือแอมโมเนียจาง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลิ่นเฉพาะตัว หากพบว่าปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติไป เช่น มีกลิ่นคล้ายเหม็นเน่า ก็เป็นไปได้ว่าร่างกายมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ในกรณีที่มีกลิ่นคล้ายน้ำนมแมว ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นโรคบางอย่างที่อาจต้องวินิจฉัยโดยแพทย์อย่างละเอียด เป็นต้น

ปัสสาวะ


Did You Know?

“Honeymoon Cystitis เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เกิดกับผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่เป็นภาวะที่ไม่ได้ร้ายแรงนัก เนื่องจากยังไม่ใช่การอักเสบถึงขั้นติดเชื้อ แต่เป็นการอักเสบเล็กน้อยจากการที่อวัยวะบางส่วนยังไม่คุ้นเคยกับการใช้งาน

คำแนะนำสำหรับผู้หญิงที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกหรือพบปัญหานี้ คือควรดื่มน้ำให้มากพอ และปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน และหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่หากเป็นบ่อยครั้งขึ้น อาจจะต้องตรวจปัสสาวะอย่างละเอียดว่าพบเชื้อประเภทใดในปัสสาวะบ้าง เนื่องจากเชื้อบางชนิดอาจสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้” แพทย์หญิงฐิติมา สิริ กล่าว


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close