โรคแพ้เหงื่อตัวเอง สาเหตุ อาการ วิธีดูแลรักษา

โรคแพ้เหงื่อตัวเอง

โรคแพ้เหงื่อตัวเอง (Sweat allergy) เป็นโรคที่มีอยู่จริง และคนไทยก็เป็นกันมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน ไม่ว่าจะฤดูไหน ก็ยังคงร้อนเสมอ จึงทำให้มีเหงื่อออกได้ง่าย โดยการแพ้เหงื่อ เป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง สร้างความลำบากให้กับผู้ที่ชอบออกกำลังกาย ทำงานกลางแจ้งเป็นอย่างมาก มาดูกันเลยว่า อาการแพ้เหงื่อตัวเอง จะมีสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

โรคภูมิแพ้ดูแลด้วย อัลเลอร์นิค ยาแก้แพ้ชนิดเม็ด กลุ่มไม่ทำให้ง่วง

รู้จักกับ “เหงื่อ” และสาเหตุที่ทำให้เหงื่อออก

“เหงื่อ” เป็นของเสียรูปแบบหนึ่งที่ถูกขับจากต่อมเหงื่อออกมาทางผิวหนัง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายลง เหงื่อมีส่วนประกอบสำคัญเป็นน้ำ และเกลือ โดยเหงื่อมักจะออกตามใบหน้า รักแร้ ฝ่ามือ และฝ่าเท้าเป็นหลัก

ถ้าร่างกายคนเราไม่มีเหงื่อเลย เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ก็อาจจะร้อนมากเกินไปจนอาจตายได้เลยทีเดียว!

สาเหตุที่ทำให้เหงื่อออก ได้แก่

1. อุณหภูมิภายในหรือภายนอกร่างกายสูงขึ้น

2. สภาวะทางอารมณ์ เช่น ความกลัว ความเครียด ก็มีส่วนกระตุ้นให้เหงื่อออก

3. อาหารเผ็ดร้อน เครื่องดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ โซดา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถกระตุ้นให้เหงื่อออกในขณะรับประทานอาหารได้

4. อาการป่วยทางร่างกายต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง ไข้ขึ้น อาการติดเชื้อ เป็นต้น

5. การใช้ยาบางชนิดเพื่อระงับโรค ก็เป็นสาเหตุทำให้เหงื่อออกได้เช่นกัน เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวดหรือมอร์ฟีน ยาบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน

6. อยู่ในวัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เหงื่อออกได้

แพ้เหงื่อตัวเอง

ทำความรู้จักกับ โรคแพ้เหงื่อตัวเอง 

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแพ้เหงื่อเป็นอาการหนึ่งของ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้มากกว่าปกติ โดยมีความร้อนเป็นตัวเร่งให้ต่อมเหงื่อในร่างกายขับเหงื่อออกมาอย่างรวดเร็ว ทำให้อุดตันบริเวณต่อมเหงื่อ เกิด ผด ผื่น คัน มีผื่นแดง เกิดอาการแพ้ขึ้นทางผิวหนัง

ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีประวัติภายในครอบครัวเป็นภูมิแพ้แบบต่าง ๆ เช่น

อาการของ โรคแพ้เหงื่อตัวเอง

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า อาการของโรคค่อนข้างจะมีรูปแบบเฉพาะสังเกตได้ง่าย โดยจะมีผิวแห้ง และคัน มีผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณของร่างกาย ดังนี้

– ช่วงอายุ 2 เดือน – 2 ปี มีผื่นผิวหนังอักเสบแดงบริเวณแก้ม หน้าผาก เป็นบริเวณที่มีการเสียดสีในช่วงที่เด็กยังคว่ำหรือคลาน แต่บางคนอาจมีเพียงแค่รอยด่างขาว ๆ ที่แก้มเรียกว่า กลากน้ำนม อาการผิวแห้งคันจะกระตุ้นให้เด็กเกา ยิ่งเกาอาการอักเสบยิ่งมากขึ้น จนบางรายอาจมีการติดเชื้อที่ผิวหนังซ้ำ

– ช่วงอายุ 4 – 10 ปี รอยผิวหนังอักเสบจะเลื่อนไปสู่ตำแหน่งของข้อพับบริเวณแขน และขา ข้อพับเข่า ข้อพับข้อศอก ข้อมือ หรือข้อเท้า ผื่นจะเป็นทั้งสองข้างซ้ายขวา แต่ความรุนแรงของการอักเสบอาจไม่เท่ากัน บางรายเป็นตุ่มคันเล็ก ๆ และเกาจนเยิ้มแฉะ บางรายอาจจะมีผิวหนังที่หนาตัวขึ้นเป็นปื้นและคันมาก พอพ้นช่วงนี้แล้วส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไป เหลือแต่อาการผิวแห้ง

– ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีอาการผิวแห้ง คัน บางรายมือแตกระแหงจนมีเลือดออกซิบ ๆ และจะแพ้ได้ง่าย

แพ้เหงื่อตัวเอง

สรุปแล้วอาการแพ้เหงื่อตนเอง มักจะมีอาการดังนี้

  • มีผื่นแดงตามจุดที่เหงื่อออก เช่น ใบหน้า ลำคอ หลัง มือ ข้อพับแขน ขา ข้อเท้า เป็นต้น
  • แห้งเป็นขุย
  • คันยุบยิบ ยิ่งเกา ยิ่งคัน
  • อาการเป็น ๆ หาย ๆ
  • หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนา และมีรอยคล้ำ
  • คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก

อย่างไรก็ดี หลายคนคิดว่าตัวเองมีอาการแพ้เหงื่อแล้วสิวขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วผื่นบนผิวหนังนั้นเป็นผื่นที่เกิดจากการแพ้ ไม่ใช่สิวแต่อย่างใด หรือหากพบว่ามีตุ่มใส ลักษณะคล้ายสิวอักเสบ เคสนี้คงต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงต่อไป

ผื่นแพ้หน้ากาก อาการยอดฮิตในยุคโควิดระบาด!

ผื่นแพ้หน้ากากอนามัย คือหนึ่งในอาการแพ้เหงื่อตัวเองเช่นกัน และก็เป็นอาการที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ ณ เวลานี้ สาเหตุจากโรคระบาดโควิด19 ทำให้ทุกคนต้องใส่หน้ากากตลอดทั้งวันนั่นเอง

เมื่อต้องใส่หน้ากากตลอดทั้งวัน ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน ทำให้มีเหงื่อออกได้ง่าย เมื่อหน้ากากอนามัยไปเสียดสีกับใบหน้าพร้อมกับเหงื่อ จึงทำให้เกิดอาการ ผื่น ปื้น ตุ่มแดง และรู้สึกคันได้ ทั้งบนใบหน้า และบริเวณใบหู

วิธีดูแลเบื้องต้น

ใครที่กำลังเผชิญกับอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวไป คงต้องระวัง และใส่ใจในการใส่หน้ากากกว่าคนอื่น ด้วย 6 วิธี ดังนี้

  1. ใช้เฉพาะหน้ากากอนามัยใหม่ สะอาด และได้มาตรฐานเสมอ
  2. ไม่สวมใส่หน้ากากเป็นเวลานานจนเกินไป
  3. เมื่อมีผื่นขึ้นใบหน้า ให้เลี่ยงการแต่งหน้าไปก่อน
  4. ล้างหน้าให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะก่อนนอน และงดถู หรือสครับใบหน้า
  5. หน้ากากอนามัย ควรใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ใหม่ แต่ถ้าใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า ควรซักก่อนใส่ทุกครั้ง ด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ หรือจะใช้ผงซักฟอกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการซักหน้ากาก
  6. หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้น ให้พบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม

วิธีรักษา โรคแพ้เหงื่อตัวเอง

แพทย์หญิงสุราศี อิ่มใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง โรงพยาบาลผิวหนัง อโศก แนะนำว่า การรักษาโรคแพ้เหงื่ออาจทำได้ด้วยวิธี Desensitization หรือการทำให้ร่างกายค่อย ๆ ชินต่ออาการแพ้จนไม่มีปฏิกิริยากับอาการแพ้อีกต่อไป โดยอาจลองฝึกให้ร่างกายอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่ร้อน หรือปรับอุณหภูมิให้ค่อย ๆ รู้สึกอุ่นขึ้นทีละหน่อย จนร่างกายไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ตามอาจลดความรุนแรงของโรคได้โดยการดูแลและปฏิบัติตนให้ถูกวิธี ดังนี้

– หลีกเลี่ยงสถานที่มีอากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00 – 15.00 น.

– ควรพกผ้าเช็ดหน้าอยู่เสมอ เมื่อออกกำลังกาย หรือเหงื่อออก จะได้เช็ดเหงื่อได้ทันที โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำ แล้วมาเช็ดเบา ๆ บริเวณที่เหงื่อออก หรือ ที่มีจุดผื่นคันขึ้น

– เมื่ออาบน้ำควรใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่มีน้ำหอม ไม่มีสารกันเสีย และอ่อนโยนต่อผิว

– ใช้แป้งรักษาผดผื่นคัน โรยบริเวณที่เกิดผื่นคันขึ้น

– สำหรับสาว ๆ ไม่ควรแต่งหน้าจัด เพราะเหงื่อจะไปทำปฏิกิริยากับเครื่องสำอางบนใบหน้า ทำให้ระคายเคืองได้

– เปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่หนาวจนเกินไป แต่ก็ไม่ร้อนจนเหงื่อออกขณะทำงานในห้อง หรือตอนนอน แนะนำที่อุณหภูมิ 25-26 องศาเซลเซียส ช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย

– ทายาแก้แพ้ ลดผื่น ลดคัน โดยปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ ก่อนใช้ยา

กินยาแก้แพ้ ที่มีส่วนผสมของลอราทาดีน (loratadine) ไม่ทำให้ง่วงนอน บรรเทาอาการแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม น้ำมูกไหล คันจมูก คันตา แสบตา เนื่องจากโรคภูมิแพ้ บรรเทาอาการของ ลมพิษเรื้อรัง และอาการแพ้ทางผิวหนังอื่น ๆ

อาการแพ้เหงื่ออาจไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ก็ต้องดูแลตนเองให้ดี ไม่เช่นนั้นก็จะมีผดผื่นคันขึ้นเต็มตัวเมื่อเหงื่อออก เกามากก็เป็นแผลตามร่างกายไปอีก ลองเข้าพบแพทย์ด้านผิวหนังดูสักครั้ง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าเราเป็นแค่โรคแพ้เหงื่อตัวเอง หรือมีโรคอื่นแทรกซ้อนด้วย จะได้รักษาได้ทันท่วงที

 

อ้างอิง :

1. https://www.pobpad.com 2. https://pr.moph.go.th 3. http://www.skinhospital.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close