เป็นไข้ ตัวร้อน ปวดหัว นอนซมทั้งวัน เป็นเพราะอะไร ทำไงดี?

เป็นไข้ ตัวร้อน

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากหน้าฝน ไปหน้าหนาว ทำให้ร่างกายปรับตามไม่ทัน ธาตุในร่างกายก็แปรปรวน ยิ่งอายุมาก เลือดลมก็ไม่ดี ไม่ได้ไหลคล่องเหมือนกับหนุ่ม ๆ สาว ๆ เผลอเมื่อไรก็ป่วย ปวดหัว เป็นไข้ ตัวร้อน ได้ง่าย ๆ งั้นวันนี้มาดูวิธีดูแลตัวเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาคอยดูแลกันเถอะ

ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen tablets) บรรเทาหวัด น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้

เป็นไข้ ตัวร้อน เกิดจากอะไร ?

ไข้ หรือ อาการตัวร้อน (Fever, Pyrexia, Cold) – หมายถึงอุณหภูมิที่สูงเกินอุณหภูมิร่างกายที่ 37.5 องศาเซลเซียส ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหนาวทั้งตัว ทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ไข้เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายที่พยายามต่อต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส

แค่ไหนถือว่า เป็นไข้ ?

โดยทั่วไป ถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเรากำลังเป็นไข้

  • ถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส จะเรียกว่า “ไข้ต่ำ”
  • ถ้าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ถือว่ามี “ไข้สูง”
  • ถ้าเกิน 41.5 องศาเซลเซียส จะถือว่ามี “ไข้สูงอย่างรุนแรง” ควรรีบพบแพทย์ด่วน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตตามมา

เป็นไข้ ตัวร้อน บ่งบอกถึงโรคอะไรบ้าง?

1. ไข้หวัดธรรมดา – เกิดจากเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ อาการมักไม่รุนแรงมาก เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก จาม คัดจมูก อ่อนเพลีย อาการดังกล่าวอาจคงอยู่เพียง 3- 4 วัน ก็จะหายไปเอง หากไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ

2. ไข้หวัดใหญ่ – จะแตกต่างกับไข้หวัดธรรมดา ตรงที่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส มีไข้สูง ไอเจ็บคอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจท้องเสียร่วมด้วย หนาวสั่น อาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน จะหายใน 2 วัน แต่อาการน้ำมูกไหลคัดจมูกอาจจะอยู่ได้ 1 สัปดาห์

เป็นไข้ ตัวร้อน

3. ไข้เลือดออก – เป็นไข้ที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะไม่มีอาการหวัด แต่จะมีอาการซึม ใบหน้าแดง เบื่ออาหารอย่างมาก เลือดออกเป็นจุดเล็ก ๆ ตามผิวหนัง รวมถึงคลื่นไส้ อาเจียน ปวดใต้ชายโครงข้างขวา ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

4. ไข้ไทฟอยด์ – เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก และท้องเสีย ม้ามโต ชีพจรเต้นช้า ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา ไข้จะสูงลอยต่อไปอีก 1-3 สัปดาห์

5. อาการอื่น ๆ – ไข้มาลาเรีย ไข้จากแผล ฝีหนอง ไข้สมองอักเสบ ไข้รากสาดใหญ่ โรคชิคุนกุนยา โรคมือเท้าปาก เริม ปอดบวม ปอดอักเสบ เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่หายจากโรคหวัดแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัด ชนิดเดียวกับที่ผู้ป่วยเพิ่งจะเป็นมาโดยเฉพาะ แต่จะไม่คุ้มกันถ้าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดอีกชนิดหนึ่งมา

เป็นไข้ ตัวร้อน

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้ ตัวร้อน

1. พักผ่อนให้เพียงพอ ข้อนี้สำคัญสุด โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้ ควรนอนพักผ่อนให้มากที่สุด

2. ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ไม่ร้อน ไม่เย็น เพื่อช่วยให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง

3. อาบน้ำอุ่น หรือ หมั่นเช็ดตัวบ่อย ๆ ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเล็กน้อย หรือ น้ำอุณหภูมิห้อง แล้วถูตัวแรง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว นำเลือดมาระบายความร้อนออกที่ผิวได้มากขึ้น

Tip : เช็ดตัวให้ถูกวิธี – ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ กับน้ำอุณหภูมิปกติ แล้วเช็ดแรง ๆ ขัดตามผิว ย้อนรูขุมขน เช็ดไปในทางเข้าหาหัวใจ จะทำให้รูขุมขนเปิด และระบายความร้อนได้ดี

4. กินอาหารอ่อน และย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ไข่ตุ๋น ข้าวต้ม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น

5. รับประทานยาแก้ปวด และลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล แต่ถ้ามีไข้ต่ำ อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาลดไข้ เพียงแต่เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นบ่อย ๆ ก็เพียงพอแล้ว

ควรระวัง! ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะมีข้อห้ามมาก ค่อนข้างอันตราย

6. ถ้ามีอาการคัดจมูกร่วมด้วย ให้ซื้อยาดมสมุนไพร ที่มีกลิ่นหอมเย็น เพื่อสูดดมให้หายใจได้ง่าย และโล่งจมูกขึ้น

7. ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องออกไปข้างนอก และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศไม่ปลอดโปร่ง เช่น ในห้างสรรพสินค้า ย่านชุมชน รถเยอะ เป็นต้น

8. ควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อมีไข้สูง หรือ ไข้ไม่ลดลงภายใน 2-3 วัน และควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าไข้สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส มีอาการอาเจียน ผื่นขึ้น ปวดศีรษะมาก เป็นต้น

ถ้าเป็นไข้ไม่มาก เพียงแค่นอนหลับพักผ่อนให้มาก ๆ ทานยาแก้ปวด ลดไข้ ร่วมด้วย ก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้อย่างชัดเจน ภายใน 1 – 2 วัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close