ติดโควิด-19 สงสัยว่า เชื้อโควิดลงปอด ต้องเช็กอาการยังไง และดูแลตนเองยังไงดี?

เชื้อโควิดลงปอด

สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยในปัจจุบัน เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤตสุด ๆ พบผู้ติดเชื้อทะลุหนึ่งหมื่นรายต่อวัน และยังไม่มีที่ท่าจะหยุดลงง่าย ๆ ส่งผลให้เตียงขาดแคลน ผู้ติดเชื้อก็ไม่สามารถเข้าพบแพทย์ได้โดยง่าย ผู้ป่วยจึงควรรู้วิธีประเมินอาการตัวเอง โดยเฉพาะหากสงสัยว่า เชื้อโควิดลงปอด ยิ่งต้องเฝ้าระวังตนเองให้มากขึ้น ด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ GedGoodLife นำมาฝากในวันนี้ มาติดตามกัน!

decolgen ดีคอลเจน

นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน (Tany Thaniyavarn, MD) อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด แพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้แชร์ความรู้ วิธีเช็คอาการ แบบไหนโควิดลงปอด และการดูแลตนเองเมื่อสงสัยว่าเชื้อลงปอดแล้ว

2 วิธี เช็คอาการ เชื้อโควิดลงปอด หรือยัง?

นายแพทย์ธนีย์ กล่าวว่า ให้ประเมินได้คร่าว ๆ 2 วิธี คือ…

วิธีที่ 1 ถ้าเคยทำกิจกรรมอะไรปกติไม่เหนื่อย แล้วพอติดโควิด มาทำแล้วเหนื่อย เช่น การเดินไปมาในห้องแล้วเหนื่อย การลุก-นั่ง แล้วเหนื่อย นั่งยอง ๆ แล้วลุกขึ้น แล้วเหนื่อย ให้สงสัยว่า เชื้อโควิดลงปอด แล้ว

วิธีที่ 2 ใช้เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) หรือ นาฬิกา สมาร์ทวอช (smart watch) ที่มีระบบวัดค่าออกซิเจน โดยคนปกติจะมีค่าออกซิเจนอยู่ที่ 97-100% แต่ถ้ามีออกซิเจนตกลงมาที่ 94% น่าจะมีปัญหาที่ เชื้อโควิดลงปอด ไปแล้ว


วิธีปฎิบัติตัวเมื่อสงสัยว่า เชื้อโควิดลงปอด แล้ว

1. นอนคว่ำ

การนอนคว่ำมีประโยชน์เพราะว่า การนอนหงาย จะไปกดบริเวณปอด (เนื่องจากปอด 2 ใน 3 อยู่ด้านหลัง) ทำให้ปอดด้านหลังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ถ้าเรานอนคว่ำ จะทำให้ปอด 2 ใน 3 ไม่มีการกดทับ ทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณออกซิเจนก็จะสูงขึ้น

การนอนคว่ำให้กอดหมอนไว้ที่หน้าอก เพื่อให้นอนสบายขึ้น

– บางคนหากนอนคว่ำไม่ได้ หายใจไม่ออก ให้นอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำ 45 องศามาทางเตียง

– กรณีคนท้องให้นอนตะแคง เอาด้านซ้ายลง

– ระหว่างนอนคว่ำ ให้ขยับขาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยืดงอขา หรือยืดเหยียดปลายเท้า เป็นต้น

2. วิธีทานอาหาร/ดื่มน้ำ ระหว่างรอเตียง

– การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยลดความข้นหนืดของเลือด ถ้าเราขาดน้ำ จะทำให้มึนหัว เพลีย หน้ามืดง่าย จึงควรดื่มน้ำ 2 – 2.5 ลิตร / วัน
โดยทานเฉลี่ยไปทั้งวัน ไม่จำเป็นต้องทานรวดเดียวหมด (แต่อย่าทานมากเกินไป เพราะ น้ำเปล่าทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง และอาจทำให้ชักได้)

– ท่านที่ยังทานอาหารได้ให้ทาน แต่ถ้ายังทานอาหารได้ไม่ดี คุณหมอแนะนำให้ทานน้ำที่มีเกลือแร่ และพลังงานอยู่ในนั้น
เช่น ผงเกลือแร่ที่ใช้ตอนท้องเสีย หรือเกลือแร่ที่เสียเหงื่อตอนออกกำลังกายก็ช่วยได้ หรือใช้น้ำตาล เกลือ ผสมเข้าไปในน้ำเล็กน้อย (ประมาณ 1 ช้อนชาต่อน้ำแก้วใหญ่ ๆ พอแล้ว)

3. วิธีทานยาแก้ไข้/ยาโรคประจำตัว ระหว่างรอเตียง

– หากมีโรคประจำตัวที่ต้องทานยากลุ่มขับปัสสาวะอยู่ แล้วดื่มน้ำไม่ได้ ตรงนี้ให้งดยาไปก่อน

– หากทานยาโรคความดันโลหิตสูงอยู่ ถ้ามีเครื่องวัดความดัน ให้วัดความดันเป็นประจำ ถ้าพบความดันต่ำ อาจทำให้ช็อก หน้ามืด หัวใจอาจหยุดเต้น ถ้าพบว่าความดันต่ำกว่า 90/60 ควรงดยาความดันโลหิตสูง เพราะเราไม่ต้องการให้ความดันต่ำไปกว่านั้น

* สำหรับใครไม่มีเครื่องวัดความดัน ถ้ายังสามารถทานอาหาร ทานน้ำได้ดีอยู่ สามารถทานยาต่อได้ แต่ถ้าเริ่มทานอะไรไม่ค่อยลง ให้งดยาไปก่อน

– หากทานยาโรคเบาหวานอยู่ ควรตรวจน้ำตาลสม่ำเสมอ ๆ ตรวจ 4 เวลาแล้วจดไว้ ถ้าพบว่าน้ำตาลต่ำประมาณ 100 และทานอาหารไม่ได้ ทานได้น้อย ควรงดฉีดอินซูลิน หรืองดยากลุ่มที่ลดน้ำตาลในเลือด เพราะถ้ามีภาวะน้ำตาลต่ำ และมีโรคโควิดที่กำเริบอยู่ อาจเป็นอันตรายได้

– ถ้ามีไข้ ให้ทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น หากเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ ให้กินพาราฯ ได้เลย อย่ารอให้ไข้สูง หรือหนาวสั่น เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ

ข้อควรระวัง! คุณหมอได้กล่าวว่า อย่าทานยาลดไข้กลุ่ม NSAID เช่น ibuprofen, naproxen, mefenamic acid (Ponstan), diclofenac (Voltaren) เพราะอาจทำให้ไตวายได้

– ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร/กระชายขาว ทานได้แต่ต้องทานตามปริมาณกำหนดของกรมการแพทย์แผนไทย *หากทานเกินปริมาณกำหนดอาจทำให้ตับวายได้*

อ่านเรื่องฟ้าทะลายโจรเพิ่มเติม -> ประโยชน์-ข้อควรระวัง ของฟ้าทะลายโจร ที่ต้องรู้! ก่อนใช้รักษาโควิด-19

เชื้อโควิดลงปอด


วิธีเข้าห้องน้ำ ระหว่างรอเตียง

– ถ้าเหนื่อยมาก เมื่อปวดถ่ายเบา หรือถ่ายหนักก็ตาม อย่าลุกไปเข้าห้องน้ำคนเดียว เพราะ การนั่งเบ่งถ่ายในขณะที่ร่างกายมีออกซิเจนต่ำ จะทำให้หน้ามืด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นได้ พบว่ามีผู้ป่วยโควิดใน รพ. หลายรายที่เข้าห้องน้ำ เบ่งปัสสาวะ เบ่งอุจจาระ แล้วหน้ามืด เป็นลม และเสียชีวิต

– ให้เตรียมห้องน้ำไว้ข้างเตียงดีที่สุด เช่น กระโถน, คอมฟอร์ท100 (กระบอกปัสสาวะ), กระดาษ หรือผ้ารองของเสีย ไม่ต้องอาย ไม่ต้องห่วงสุขลักษณะใด ๆ เพราะหากโควิดลงปอดแล้ว ชีวิตท่านสำคัญที่สุด

– หากท้องผูกให้ทานยาระบายอ่อน ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ


นอกจากนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 จำเป็นต้องติดต่อหาญาติ ครอบครัว เพื่อน ๆ ไว้ตลอดเวลา เพื่อให้ช่วยกันอัพเดทเรื่องหาเตียงให้เร็วที่สุด GedGoodLife ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโควิด-19 หายโดยเร็ววัน ไม่มีอาการรุนแรงใดใด

อ้างอิง : Doctor Tany / ประวัติคุณหมอ

 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close