เรียนรู้วิธีการทำ Home Isolation หรือ การกักตัวที่บ้าน แบบปลอดภัย

การกักตัวที่บ้าน

เชื่อว่าในตอนนี้หลายคนคงเริ่มคุ้นหูกับคำว่า “Home Isolation” หรือ “การกักตัวที่บ้าน” ไม่มากก็น้อย บางคนมีคำถามว่า “Home Isolation” กับการ “Self-quarantine” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

การทำ “Home Isolation” ได้ต้องเข้าตามเงื่อนไขใดบ้าง แล้วเรื่องสุดท้ายเลยก็คือ วิธีการปฏิบัติตัวในช่วงระยะเวลาที่ทำ “Home Isolation” ที่ถูกต้อง ปลอดภัยต่อทั้งผู้ป่วย และผู้อยู่ร่วมในที่พักอาศัยเดียวกัน ต้องทำอย่างไร?

วันนี้ GedGoodLife จึงอยากนำข้อมูลที่อาจจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ ท่านมาให้ได้ทำความเข้าใจ และแบ่งปันกับคนรอบข้างให้ได้เข้าใจว่าการทำ Home Isolation นั้น ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางด้านสุขภาพได้อย่างไร

ติดโควิด กี่วัน ถึงจะตรวจเจอเชื้อ? แล้วสามารถรักษาให้หายเอง ที่บ้านได้หรือไม่?
– 9 โรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงตายสูง จากโรคโควิด-19 !! พร้อมวิธีป้องกันโรค
– แชร์ต่อให้รู้กัน! จุดตรวจโควิด 335 แห่งทั่วประเทศ พร้อม 6 จุดตรวจฟรี ในกทม.

ทำความรู้จักกับ Home Isolation หรือ การกักตัวที่บ้าน

1. Home Isolation คืออะไร แล้วเหตุใดจึงต้องมี?

วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากเกินกว่ากำลัง และศักยภาพของโรงพยาบาลจะรับมือได้

แม้ว่าจะมีการขยายเตียงเพิ่ม ทำโรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่การใช้สถานที่ในโรงแรมต่าง ๆ มาเป็นสถานพยาบาลชั่วคราวอย่าง Hospital ก็ยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นที่มาของรูปแบบการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน  สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง โดยกระบวนการ และขั้นตอนต่าง ๆ จะอยู่ในการประเมิน และควบคุมของแพทย์ หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า Home Isolation นั่นเอง

 

2. “Home Isolation” กับการ “Self-quarantine” เหมือน หรือต่างกันอย่างไร?

ก่อนหน้านี้หลายคนคงได้ยินคำว่า “Self-quarantine” กันมาไม่น้อยแล้ว ซึ่งก็หมายถึง การแยกเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย

สำหรับผู้ที่เข้าข่ายสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรียกกันติดปากว่า การกักตัว นั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้กับผู้ที่ยังไม่มีการยืนยันผลการตรวจโควิดว่าเป็นบวก แปลให้ง่ายขึ้นอีกนิดก็หมายถึง ผู้ที่มีประวัติความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรง หรือทางอ้อม และยังไม่ได้แสดงอาการใด ๆ หรือประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นแล้วยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากจนต้องเข้ารับการตรวจ รวมถึงผู้ที่อยู่ในระหว่างรอผลการตรวจด้วยเช่นกัน

ส่วนคำว่า “Home Isolation” จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับผลยืนยันการตรวจที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ แสดงอาการน้อย หรือที่แพทย์เรียกว่า ผู้ป่วยโควิดในกลุ่มสีเขียว จึงได้รับการอนุญาตให้ดูแลตัวเองจากที่บ้านได้ โดยกระบวนการ และขั้นตอนต่าง ๆ จะอยู่ในการประเมิน และควบคุมของแพทย์ตลอดจนกว่าจะสิ้นสุดการทำ “Home Isolation” นั่นก็คือมีผลการตรวจยืนยันเป็นลบนั่นเอง

 

3. การทำ “Home Isolation” ได้ต้องเข้าตามเงื่อนไขใดบ้าง

การทำ  “Home Isolation” ถือเป็นมาตรการเพื่อรองรับในช่วงสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต โดยจะมีการอนุญาตก็ต่อเมื่อมีประกาศจากทางราชการออกมาเท่านั้นโดยล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะและวิธีการปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้

  • ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี
  • เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดีหรือ ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)
  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  • ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)
  • ที่สำคัญที่สุด ไม่ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด


4. วิธีการ
ปฏิบัติตัวในช่วงระยะเวลาที่ทำ “Home Isolation” ที่ถูกต้อง

 การทำ “Home Isolation” ให้ ปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วย และผู้ที่อยู่รวมอาศัยในที่พักเดียวกัน นั้น มีหลักสำหรับ สามประการ นั่นก็คือ การเว้นระยะห่าง การเฝ้าสังเกตอาการ และการดูแลสุขภาพอนามัยทั้งอาหาร อากาศ อารมณ์ให้ครบถ้วนอย่างเคร่งครัด โดยมีข้อปฏิบัติในรายละเอียดดังต่อไปนี้

– ห้ามบุคคลภายนอก มาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว
ใช้ทางเลือกในการใช้เครื่องมือสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น VDO call หรือการส่งข้อความเพื่อติดต่อกับคนภายนอก

– ต้องไม่เข้าใกล้ หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุ หรือเด็กอย่างเด็ดขาด
โดยตลอดระยะเวลาที่ทำ “Home Isolation” ต้อง เคร่งครัดในการรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

– จัดหาห้องพัก และของใช้ส่วนตัวแยกออกจากผู้อื่นในบ้าน
หากมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด รวมถึงห้องน้ำและที่เปลี่ยนเสื้อผ้าด้วยที่ควรจัดแยกไว้เป็นการเฉพาะ และควรเปิดหน้าต่างตลอดเวลาให้อากาศจากภายนอกถ่ายเทเข้า-ออกได้เป็นอย่างดี และงดใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา

– หลีกเลี่ยงการทานอาหารร่วมกันให้ได้มากที่สุด
หากต้องทานอาหารร่วมกัน ควรจัดแยกสำรับสำหรับรับประทานของตนเอง ไม่ทานร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกันกับผู้อื่น ที่สำคัญยังต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน อย่างน้อย 2 เมตร ตลอดเวลา ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง

– สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากห้องนอน-ห้องพักผ่อนของตนเอง
และควรทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี โดยพับม้วนเก็บในขวด หรือถุงพลาสติกปิดปากให้สนิทเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนรอบข้าง

– หมั่นล้างทำความสะอาดมือของตนเองด้วยสบู่ อย่างน้อยครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 วินาที
หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์อยู่อย่างสม่ำเสมอ

– แยกถังซักเสื้อผ้า และสิ่งที่ต้องสวมใส่ทั้งหมดจากคนอื่นในบ้าน รวมถึงเครื่องนอน
สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ในการทำความสะอาดภายในบ้านเดียวกับผู้ป่วยควรสวมถุงมือและเครื่องป้องกันทุกครั้งเวลาสัมผัสสิ่งของที่ผู้ป่วยมีการใช้งาน

– เฝ้าสังเกตอาการตนเองทุกวัน และวัดอุณหภูมิสม่ำเสมอ
หากมีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูงกว่า 37 องศา ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปกติให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรับการรักษาให้เข้ามารับตัว จัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ขั้นพื้นฐานไว้ให้พร้อมเพื่อบรรเทาอาการ

– หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถส่วนตัว หรือติดต่อเพื่อแจ้งให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับ

– หากิจกรรมเบา ๆ ทำโดยอาจเปิดเพลงเบา ๆ อ่านหนังสือธรรมะรวมถึงการนั่งสมาธิ
เพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์จากความวิตกกังวลหรือความเครียดต่าง ๆ

การกักตัวที่บ้าน

นอกจากแนวทางการปฏิบัติข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขยังเตรียมจับมือกับภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตโควิด โดยเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางการสาธารณสุขเพื่อรองรับมาตรการ ‘Home Isolation’ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาตัวที่บ้านได้อย่างปลอดภัยทั้งตนเอง และคนในบ้าน อาทิ ระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน ระบบการรายงานผลออกซิเจน และอุณหภูมิ ที่จะมีการส่งไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที และเร็วที่สุด

หวังว่าคำแนะนำเหล่านี้จะเป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการเพื่อใช้ในการอ้างอิง โดยที่ทุกท่านไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ในชีวิตจริง ยังไม่มีใครตอบได้ว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน แต่ถึงอย่างไรหนทางที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ คือการหมั่นดูแลรักษาสุขภาพทั้งกาย และใจให้ดีอยู่สม่ำเสมอ แล้วเชื่อว่าโรคโควิด19 นี้ก็เหมือนกับโรคระบาดอื่น ๆ ที่สักวันหนึ่งมนุษย์เราก็จะหาทางควบคุมมันได้

GedGoodLife ขอร่วมส่งกำลังใจให้ทุกท่านผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยดี


อ้างอิง : 1. bangkokbiznews.com 2. dms.go.th

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close