ฮัดเช้ย!! “จามบ่อย” เพราะมีใครคิดถึง หรือกำลังเป็นโรคกันแน่?

“ฮัดเช้ยฮัดเช้ย อยากรู้จังเลยว่าใครเอ่ยถึงฉัน ถึงได้จามอยู่ได้ตลอดวัน…” เพลงยอดฮิตติดปาก ที่ใคร ๆ ก็ต้องร้องตามได้… แต่อาการ จามบ่อย ฮัดเช้ยตลอดทั้งวันนั้น คงไม่ใช่ใครอื่นที่กำลังคิดถึงเรา แต่เป็นอาการที่กำลังบ่งบอกว่า ร่างกายของคุณต้องการขจัด หรือขับสิ่งแปลกปลอมออกมานั่นเอง ว่าแต่อาการจามนั้นสามารถเป็นสัญญาณของโรคอะไรได้บ้างนะ? Ged Good Life มีคำตอบมาฝากแล้ว มาติดตามต่อกันเลย!

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

อาการจาม คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาการจาม (sneeze / sneezing / sternutation) – เป็นกลไกการขับลมออกจากปอดผ่านทางจมูก และปากอย่างรวดเร็ว สาเหตุของการจามมักเกิดขึ้นเมื่อมีอนุภาคแปลกปลอม หรือมีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก จนทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก จนทำให้เราต้องจามออกมา เช่น ไรฝุ่น ฝุ่นละออง เชื้อไวรัส หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เป็นต้น

ฉะนั้น หน้าที่ของการจามจึงเป็นไปเพื่อขับเมือก หรือขับสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย และยังช่วยทำความสะอาดโพรงจมูกอีกด้วย

รู้หรือไม่?! การจามเพียงเบา ๆ อาจมีอัตราความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าจามแรง ๆ อัตราเร็วอาจสูงถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยความรุนแรงขนาดนี้ อาจทำความเสียหายต่อเส้นเลือดปลายประสาทของจมูก ดวงตา และอาจทำให้มีความผิดปกติต่อความดันภายในลูกตาได้ ด้วยสาเหตุนี้เวลาจะจาม สมองจะสั่งให้คุณหลับตา กระบวนการทั้งหมดนี้สมองใช้เวลาเพียง 0.1 วินาที เท่านั้น!

จามบ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องปกติ! อาจเป็นเหตุบ่งบอกโรคต่าง ๆ ได้

โดยทั่วไปเราสามารถจามติดต่อกัน 3-5 ครั้ง เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาการจามลักษณะนี้จะสามารถหายเองได้ แต่หากเรามีอาการจามหนัก จามบ่อย และพบว่ามีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จามแล้วมีไข้ จามเรื้อรังไม่หาย ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ และสามารถบ่งบอกว่าเราอาจเป็นโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. โรคภูมิแพ้

ถ้ามีอาการจามบ่อย ๆ เป็นสิบ ๆ ครั้งต่อวัน แล้วมียังมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันตามผิวหนังร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังตื่นนอน หรือเมื่อต้องออกไปเผชิญกับมลภาวะข้างนอก สามารถบ่งบอกได้ว่าเราเป็น “ภูมิแพ้” เข้าให้แล้ว! ซึ่งอาการภูมิแพ้สามารถแพ้ได้หลายอย่างเลยทีเดียว ก็ต้องสังเกตุตัวเองให้ดีว่าแพ้อะไร เมื่อรู้แล้ว ก็อย่าไปเข้าใกล้ หรือรับสารก่อภูมิแพ้นั้นอีก หากมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล อาจรักษาได้ด้วยยาแก้แพ้แบบรับประทาน เช่น ลอราทาดีน 

อ่านเพิ่มเติม -> ภูมิแพ้ คืออะไร มีสาเหตุ อาการอะไรบ้าง หายขาดได้หรือไม่? พร้อมวิธีรักษาภูมิแพ้

2. โรคไข้หวัด

อาการจามที่มีไข้ เจ็บคอร่วมด้วย เบื้องต้นจะสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากไข้หวัด ผู้ป่วยมักจะมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมกับอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ส่วนใหญ่น้ำมูกจะใส มีการจาม เจ็บคอ คอแดง ทอนซิลอาจบวมแดง แต่ไม่พบจุดหนอง และไอ อาจมีปวดหัวบ้าง แต่โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง ดื่มน้ำเยอะ ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะดีขึ้น หรือสามารถกิน ยาบรรเทาหวัด ลดไข้ ได้

3. ไซนัสอักเสบ

หากคุณมีอาการจามรุนแรงมาก คัดจมูก น้ำมูกไหลตลอด ไอ เจ็บคอ มีอาการหอบ ปวดบริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้มร่วมด้วย เป็นติดต่อกันนานเกิน 10 วัน แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพราะคุณอาจกำลังเผชิญกับ “โรคไซนัสอักเสบ” อยู่ก็ได้ และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้กลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ ปัจจัยเสี่ยงทำให้เป็นโรคไซนัสอักเสบ ได้แก่ ผู้ป่วยไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

4. โรคปอดอักเสบ (หรือเรียกอีกชื่อว่า ปอดบวม)

หากคุณมีอาการไอ จาม เจ็บคอ หลังจากนั้นอาจมีไข้สูง หนาวสั่น หอบเหนื่อย เจ็บชายโครงตามมา อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็น “โรคปอดอักเสบ” เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส, และเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อปอด พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ

จามบ่อย

จามบ่อย ๆ เฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า เกิดจากสาเหตุใด?

ไหนใครเป็นบ้าง… ตื่นเช้ามาทีไร แทนที่จะรู้สึกสดชื่น แต่กลับมีอาการจามมากวนใจเสมอเลย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ที่นอนของคุณกำลังมีไรฝุ่น จนเกิดอาการ “ภูมิแพ้ไรฝุ่น” นั่นเอง

“ไรฝุ่น” เป็นตัวปัญหาที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดอาการภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้มีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจลำบาก อย่าลืมว่าเราใช้ชีวิต 1 ใน 3 อยู่ในห้องนอน ห้องนอนจึงควรเป็นที่ที่ให้ความสุขกับเรา เป็นที่ที่เราจะพักผ่อนนอนหลับได้อย่างสบายใจ ดังนั้น อย่าลืมทำความสะอาดฝุ่น และกำจัดไรฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของเราเอง

อย่าใช้มือปิดปาก เวลาไอ จาม เพราะอาจแพร่เชื้อโรคให้คนอื่นได้!

เมื่อเราไอ หรือ จามใส่มือตัวเอง เชื้อโรคจะติดมือเราไปด้วย เมื่อไปสัมผัสสิ่งใด เช่น ปุ่มลิฟท์ ราวบันได เชื้อโรคจะเกาะสิ่งนั้น เมื่อผู้อื่นสัมผัสต่อ ก็จะติดเชื้อโรคได้ ฉะนั้นจะไอ หรือจามก็ตาม ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ควรใช้ทิชชูปิดปากเวลาไอจาม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคกระจาย และควรนำทิชชูนั้นไปทิ้งขยะที่มีฝาปิด
  2. ถ้าไม่มีทิชชูให้ใช้ข้อศอกแทน โดยยกแขนข้างใดข้างหนึ่ง มาจับไหล่ตัวเองฝั่งตรงข้าม ใช้มุมข้อศอกและต้นแขนด้านในปิดปาก และจมูก
  3. ไอจามแล้วต้องรีบล้างมือ โดยใช้สบู่ หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

การป้องกันอาการจาม

อาการจามที่คนทั่วไปเป็นนั้น มักเกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น มลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ไรฝุ่น PM2.5 เกสรดอกไม้ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าไม่อยากจาม ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่กล่าวไป หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ เมื่อต้องออกไปเผชิญกับมลภาวะ หรือสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ รวมทั้งไม่ใช้มือสัมผัสหน้า ตา จมูก และปาก เพราะเป็นช่องทางที่เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้

 

อ้างอิง : 1. th.wikipedia 2. โรงพยาบาลวิชัยยุทธ 3. โรงพยาบาลรามคำแหง 4. พบแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close