4 อาการแพ้ที่มักมากับสายฝน พร้อมวิธีการดูแลแบบผู้เชี่ยวชาญ

อาการแพ้ที่มักมากับสายฝน

ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร มักมีฝนตกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ซึ่งกินเวลาหลายเดือนในแต่ละปี สำหรับคนทั่วไปสายฝนอาจนำมาซึ่งการเดินทางที่ยากลำบาก การจราจรคับคั่งกว่าเดิม หากแต่สำหรับคนที่มีปัญหาภูมิแพ้แล้ว สายฝนอาจนำมาซึ่งความไม่สบายตัว อันเกิดจากร่างกายทำปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มากขึ้น และนี่คือ 4 อาการแพ้ที่มักมากับสายฝน

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

4 อาการแพ้ที่มักมากับสายฝน พร้อมวิธีการดูแลแบบผู้เชี่ยวชาญ

1. โรคแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

หนึ่งในอาการแพ้ที่มักพบบ่อยมากสุดในช่วงฤดูฝน เกิดจากเยื่อบุโพรงจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ที่สายลมที่โหมกระหน่ำ และพัดพาเอาฝุ่นละอองในอากาศให้กระจายเพิ่มขึ้น ความชื้นในอากาศที่สูงขึ้นและต่อเนื่อง อันเป็นสาเหตุทำให้เยื่อบุโพรงจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ จนทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มักมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก จนแสดงอาการคัดจมูก คันจมูก จามบ่อย มีน้ำมูกใสๆ ไอแบบคันคอ มีน้ำมูกไหลลงคอ กระแอมบ่อย ๆ บางรายอาจมีอาการคันตา แสบตาและอาจมีน้ำตาไหลมาก หูอื้อ ร่วมด้วย แต่จะไม่มีไข้ โดยปกติอาการมักเป็น ๆ หาย ๆ ช่วงหลังตื่นนอน หรือ ตอนหัวค่ำก่อนเข้านอน

โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย พบประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด โดยผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 จะมีอาการก่อนอายุ 30 ปี  วิธีการสังเกตง่าย ๆ ว่าตัวคุณเอง หรือคนใกล้ชิดมีอาการแพ้อากาศหรือไม่ สังเกตได้จากอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเมื่ออยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือเวลาที่มีอากาศชื้นขึ้น

สาเหตุของโรคภูมิแพ้อากาศมีความเกี่ยวข้องกับอากาศ ฝุ่นละออง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ การดูแลรักษาจึงควรเน้นที่การปรับสมดุลสภาวะร่างกาย เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการหมั่นออกกำลังกายดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดีอยู่เสมอ รวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ด้วยการเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศที่ช่วยปรับความชื้นอากาศในห้องได้ จะช่วยทำให้อาการของโรคทุเลาลงมากจนไม่มีอาการเลย และหากมีอาการที่รุนแรงขึ้น ควรรักษาด้วยยากิน และยาพ่นจมูก

ซึ่งอาการของโรคภูมิแพ้อากาศอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง และพบเห็นได้ทั่วไป แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาได้ เช่น โรคไซนัส โรคหลอดลมอักเสบ ผนังคออักเสบ โรคหอบหืด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับซึ่งมีอันตรายได้มากกว่าที่คุณคิด

2. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ

เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะโพรงจมูก เยื่อบุจมูก และหลอดลมเป็นส่วนมาก ซึ่งบริเวณที่ว่านี้มีหน้าที่สำคัญในการช่วยคัดกรองฝุ่น และสิ่งแปลกปลอมที่จะผ่านเข้ามาในร่างกาย จึงเปรียบได้ดั่งไส้กรองอากาศของร่างกาย และเมื่อบริเวณดังกล่าวสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน ถูกกระตุ้นถี่ ๆ ซ้ำ ๆ ก็จะเกิดการอักเสบขึ้น จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจมีการตอบสนองต่อกลิ่น หรืออากาศที่หายใจเข้าไปค่อนข้างไวกว่าคนปกติ

ซึ่งในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงเวลาที่เกิดกระแสลมพัดพาเอาความชื้น และฝุ่นละออง เล็ก ๆ มากมายโดยเฉพาะเกสรดอกไม้ ฝุ่น หรือขนสัตว์ ให้ปลิวกระจายไปทั่วทุกทิศทุกทาง ซึ่งนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่หลายคนมักมีอาการโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจกำเริบมากขึ้นในทุกครั้งที่ลมฝนพัดผ่านมา

อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ อาการไอเรื้อรัง จามบ่อย แน่นหน้าอก มีเสมหะในคอ กลืนน้ำลายและอาหารลำบาก หายใจไม่สะดวก หรือต้องหายใจถี่ และมักมีอาการหนักขึ้นในช่วงเวลากลางคืน หรือช่วงที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง

การดูแลรักษา

  • หัวใจหลักอยู่ที่การลดโอกาสในการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ให้ได้มากที่สุด เช่น การปิดประตู และหน้าต่างขณะฝนตก เพื่อป้องกันละอองเกสร สปอร์เชื้อรา และฝุ่นที่มากับลม ลอยเข้ามาในบ้าน
  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่จะได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้ามาในร่างกายโดยเฉพาะในที่โล่งแจ้งในช่วงที่มีกระแสลมแรง หรือควรมีเครื่องป้องกันอย่างเหมาะสมเช่นสวมหน้ากากอนามัย และสวมแว่นตากันลมและฝุ่น
  • รักษาอุณหภูมิของร่างกายตนเองให้อบอุ่นเสมอ
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หมั่นออกกำลังกาย
  • ลดความวิตกกังวล และความเครียดก็จะช่วยให้อาการของโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจบรรเทาเบาบางลงได้

3. โรคภูมิแพ้ขึ้นตา

เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่แพ้ โดยมักเกิดการอักเสบที่บริเวณเยื่อบุตาขาว บริเวณตาขาวมีเส้นเลือดสีแดงเล็ก ๆ ชัดขึ้น สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ แต่มักพบว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่นในช่วงฤดูฝนมักเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการแพ้มากขึ้น และมักเกิดซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาเดิมของแต่ละเดือน หรือที่เรียกว่าแพ้ตามฤดูกาล

สาเหตุสำคัญมาจากไรฝุ่น ฝุ่นควันตามท้องถนน เกสรดอกไม้ หรือสิ่งระคายเคืองอื่น ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ ถูกกระแสลมพัดมากระทบกับดวงตาของผู้ป่วย จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ โดยจะมีอาการคันรอบ ๆ ตา หนังตาด้านในแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม ตาขาวเป็นสีแดงเท่านั้น แต่ยังไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อกระจกตา ซึ่งในคนทั่วไปอาการจะบรรเทาลง และหายเองได้เมื่อไม่ได้รับการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้เพิ่มขึ้น

วิธีการบรรเทา รักษาอาการ

  • การพักผ่อนสายตาเป็นระยะ ๆ ทุกๆ 10-15 นาที
  • การใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา
  • การสวมแว่นตาชนิดกันลมและกันฝุ่นทุกครั้งเมื่อต้องออกไปนอกอาคาร
  • หลีกเลี่ยงไม่ได้มีลมเป่าหรือสัมผัสบริเวณใบหน้าและดวงตาโดยตรง
  • รวมถึงงดเว้นการสัมผัส ขยี้ตา เมื่อมีอาการแสบหรือคันตา เพราะอาจก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณกระจกตา กระจกตาดำเป็นแผล กระจกตาเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพดวงตาอย่างอื่นตามมาได้

หากมีอาการผิดปกติที่เพิ่มขึ้นควรรีบเข้าพบปรึกษาแพทย์ทางด้านจักษุเพื่อ ทำการรักษาด้วยยาเฉพาะทางต่อไป

4. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา และแบคทีเรียบางชนิด

เป็นอีกหนึ่งกลุ่มโรคที่พบมากขึ้นในทุกช่วงฤดูฝน เนื่องจากสภาพอากาศอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการเจริญเติบโต และเพิ่มปริมาณของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างเช่นเชื้อรา ตามพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ มากกว่าปกติ รวมถึงการเพิ่มปริมาณของแมลงและแมง ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก ที่มักจะมากับสายฝน จนทำให้มีโอกาสถูกสัตว์เปล่านั้นกัดต่อยเพิ่มมากขึ้น

สังเกตได้จากการมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ

ซึ่งวิธีป้องกันที่เห็นผลที่สุดได้แก่

  • ทำความสะอาดร่างกายและเช็ดผิว โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ซอกนิ้วมือและนิ้วเท้า ให้แห้งอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่โดนละอองฝน
  • ในผู้ที่มีสภาพผิวแห้งควรทาโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง แมลง และยุงชุกชุม หรือควรมีอุปกรณ์ป้องกันแมลง และสัตว์กัดต่อยอย่างเหมาะสม
  • เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแนบชิดผิวจนเกินไป หรือเสื้อผ้าที่มี เนื้อหยาบหนา หรือผ้าขนสัตว์ ซึ่งง่ายต่อการทำให้เกิดการระคายเคืองสำหรับผิว

อาการแพ้ที่มักมากับสายฝน

และทั้งหมดนี้ ก็เป็นสาระความรู้ดี ๆ ที่เรานำมาฝากทุก ๆ ท่านในช่วงหน้าฝน เพื่อให้คุณหมั่นสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้ของคุณกำเริบ รวมถึงสามารถนำเคล็ดลับการดูแลตนเองในช่วงฤดูฝนไปใช้สำหรับการบรรเทาอาการแพ้ ที่แม้รักษาไม่ได้หายขาด แต่สามารถควบคุมดูแลไม่ให้ออกมากก่อกวนคุณภาพชีวิตของคุณ ทำให้คุณสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ และอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกับผู้อื่นได้ แถมยังทำให้ฤดูฝนเป็นอีกหนึ่งฤดูที่คุณชื่นชอบมากที่สุด และพร้อมออกไปดำเนินชีวิตท่ามกลางสายฝนแบบไร้กังวลอีกต่อไป

อ้างอิง : The AAFA Medical Scientific Council (MSC)


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

โรคภูมิแพ้ดูแลด้วย "อัลเลอร์นิค" ยาแก้แพ้ชนิดเม็ด กลุ่มไม่ทำให้ง่วง

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close