Telemedicine คืออะไร แล้วจะเลือกอย่างไร ให้ตอบโจทย์สุขภาพของคุณ?

Telemedicine

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่ายุค 4.0 ซึ่งหมายถึง คำเรียกในการแบ่งยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานของทั่วโลก ในบ้านเราเอง อุตสาหกรรมหลายประเภทก็ได้ทยอยกันก้าวข้ามขีดจำกัดทางด้านเทคโนโลยีเข้าสู่ยุค 4.0 กันมามากมายไม่ว่าจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงิน การทำเกษตรกรรมยุคใหม่ จนล่าสุด การแพทย์ออนไลน์ หรือที่ใคร ๆ เรียกว่า Telemedicine นั่นเอง

– รวม 20 เพจหมอ ได้สาระสนุก พร้อมสุขภาพดีดี ลืมป่วยกันได้เลย!

decolgen ดีคอลเจน

Telemedicine คืออะไร ?

Telemedicine คือ การให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ ผ่านทางเทคโนโลยี และระบบการสื่อสารแบบยุคใหม่ เช่นการทำ Video conference ให้คนไข้ได้บอกเล่าอาการ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค กับแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ แบบชนิดที่ว่าอยู่ห่างไกลกันแค่ไหนก็สามารถพบแพทย์ได้  ซึ่งในภาษาไทยจะเรียกว่า โทรเวชกรรม หรือระบบแพทย์ทางไกลนั่นเอง

ข้อดีของการใช้บริการ Telemedicine

คำถามนี้พวกเราคงจะนึกออกได้ไม่ยาก เพราะเคยไหมที่รู้สึกเบื่อหน่ายเวลาต้องเดินทางออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปรอเข้าคิวพบแพทย์? เคยไหม?  ยามที่ ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย และเป็นกังวลใจ อยากปรึกษาอาการกับคุณหมอ แต่ไม่อยากเดินทางออกจากบ้าน  เพียงเพื่อไปรับการรักษาจริงแค่ไม่กี่นาที เสียทั้งเวลาเสียทั้งค่าเดินทาง

ยิ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบนี้ โรงพยาบาล หรือแม้แต่คลินิกต่าง ๆ อาจเป็นสถานที่เสี่ยงภัยต่อการติดต่อรับเชื้อกลับมาบ้านเพิ่มได้ หากไม่ระมัดระวังอย่างเคร่งครัดซึ่งปัญหาที่ยกมากล่าวเป็นข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการได้รับบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวดเร็ว ทันใจ สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินชีวิตกันมากขึ้น และนั่นก็คือ ที่มาความตื่นตัวในการใช้ Telemedicine ในช่วงสองสามปีหลังมานี้ในประเทศไทยนั่นเอง

การใช้บริการ Telemedicine ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ของไทย ช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถเข้าถึงการตรวจรักษา และวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว แทนที่ต้องรอคิวเป็นเวลานานในโรงพยาบาลเหมือนเมื่อก่อน ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวสามารถติดตามการรักษาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมาพบที่โรงพยาบาลบ่อย ๆ รวมถึงยังช่วยสร้างฐานข้อมูลทางด้านสุขภาพขนาดใหญ่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางการแพทย์ในอนาคตอีกด้วย

Telemedicine

Telemedicine ตอบโจทย์สุขภาพของคุณ ได้ในด้านใดบ้าง?

ในปัจจุบัน Telemedicine ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในอำนวยความสะดวกระหว่างแพทย์ บุคลากร และผู้ป่วย ได้หลากหลายรูปแบบวิธีการ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

1. การให้คำปรึกษา และติดตามผลการรักษา
โดยผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยสุขภาพโดยการพูดคุย และสอบถามอาการผู้ป่วย ผ่าน Video conference เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนไข้ที่มี อาการเบื้องต้นที่ไม่รุนแรง เช่น เป็นไข้ ปวดท้อง ปวดหัว เป็นผื่นคัน เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องมีการนัดหมายเพื่อติดตาม และสอบถามอาการต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาโรงพยาบาล

2. การเฝ้าระวังดูแลสุขภาพผู้ป่วยถึงที่บ้าน
โดยรูปแบบนี้จะมีการนำอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ ไปติดตั้งหรือใช้งานที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น Digital device ต่าง ๆ อย่าง สมาร์ทวอช หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เพื่อวัด และเก็บข้อมูลสัญญาณชีพ และเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเข้ากับระบบของโรงพยาบาล

ถ้าสัญญาณชีพที่ส่งมามีความผิดปกติ ผู้เชี่ยวชาญจะแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทันที โดยวิธีการเหล่านี้สามารถช่วยป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่อาจมีอาการเฉียบพลัน เมื่อใดก็ได้ เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ให้ได้รับความปลอดภัย และมั่นใจยิ่งขึ้น เหมือนมีบุคลากรทางการแพทย์คอยช่วยเฝ้าสังเกตการณ์ด้านสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมง

3. การให้ข้อมูลสุขภาพหรือให้คำปรึกษาโรค
โดยผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาสืบค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือปรึกษาออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญได้ ตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น Application ของโรงพยาบาล หรือ นักพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่มีการสอบถามเข้ามาจะถูกเก็บบันทึกเพื่อสร้างฐานข้อมูลอัจฉริยะในการให้บริการต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ซึ่งตัวอย่างของการให้บริการประเภทนี้ก็ได้แน่ การให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต การติดตามอาการและผลการรักษาของผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัด และปรับพฤติกรรมเช่นการ เลิกสุรา เป็นต้น

4. การเรียนรู้ทางการแพทย์ผ่านคลังข้อมูลออนไลน์
ด้วยเทคโนโลยี Telemedicine เหล่านี้ ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ ใน Data Center ขนาดใหญ่ ที่วางแผนไว้เพื่อเป็น Digital Health Center ของประเทศไทยเพื่อให้ผู้ใช้สืบค้น หรือเผยแพร่ข้อมูลความรู้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้สำหรับแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่สำคัญในอนาคต

แนะนำบริการ Telemedicine ที่น่าสนใจ

ในปัจจุบันก็มีหลายโรงพยาบาล และผู้พัฒนาระบบแอปพลิเคชัน หลายแห่ง ที่นำระบบ Telemedicine มาใช้ ซึ่งมีแบรนด์ที่น่าสนใจ และความโดดเด่นที่ตอบโจทย์ในด้านที่ตัวเองถนัดได้แตกต่างกัน ดังตัวอย่าง เช่น

1. โรงพยาบาลสมิติเวช
เรียกว่าเป็นโรงพยาบาลกลุ่มแรก ๆ ในเมืองไทยที่หันมาให้บริการ Telemedicine ภายใต้แนวคิด Samitivej Virtual Hospital โดยมีช่องทางในการติดต่อให้บริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์สมิติเวชออนไลน์ และ ไลน์ @Samitivej  โดยให้ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time ได้ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 15 นาที/500 บาท ชำระผ่าน Online Payment ได้ทุกช่องทาง

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังอำนวยความสะดวกในการจัดส่งยา และเวชภัณฑ์ที่คุณหมอสั่งไปให้ถึงที่บ้าน ผ่านบริการ Medecine ในเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่มีความพร้อม และตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครบวงจร

2. แอปพลิเคชัน “Raksa-ป่วยทัก รักษา
การลงทุนใน Tech-Startup ของเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แอปพลิเคชันที่บริการให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพ ที่ช่วยทำลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและเวลา ให้คนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กว่า 400 ท่าน ที่สลับเปลี่ยนหมุนเวียน

การใช้งานสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เลือกหมอที่ออนไลน์อยู่ ตามอาการที่อยากปรึกษา โดยในนี้มีหมอเฉพาะทางหลากหลายสาขาทีเดียว หลังจากนั้นสามารถปรึกษาผ่าน การแชท โทร หรือวิดีโอคอลได้ทันที

เมื่อปรึกษาหมอเสร็จ คนไข้จะได้รับข้อมูลการรักษา และใบสั่งยาออนไลน์ ซึ่งคนไข้สามารถนำใบสั่งยานี้ไปซื้อยาเอง หรือรอรับยาที่บ้าน ยาจะถูกจัดส่งภายใน 60 นาที และมีข้อมูลเกี่ยวกับยาให้ค้นหาอีกกว่า 3,000 รายการ

โดยคิดค่าบริการ 2 รูปแบบ คือ โทรศัพท์หรือ video call ค่าใช้จ่ายประมาณ 15 นาที/ ราคา 300 – 500 บาท อีกรูปแบบคือแชท ค่าใช้จ่ายประมาณ 200 บาท/ครั้งส่วนค่ายาก็เป็นราคาตามร้านยาทั่วไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้สามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชันที่ใครๆ ก็ใช้ได้ง่าย เหมาะกับคนทุกลุ่ม

3. Chiiwii เทเลเมดิซีนสตาร์ทอัพเจ้าแรก ๆ ในไทย
ที่ถือกำเนิด และมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาสุขภาพแบบออนไลน์จากการทำเวปบอร์ด และได้พัฒนาจนเกิดเป็นแอพพลิเคชัน Chiiwii ที่ช่วยให้หมอและคนไข้ได้พูดคุย และได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพได้แบบเรียลไทม์ อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน 3 ช่องทาง คือ แชท โทร และวีดีโอคอลได้ในแอพฯ

ซึ่งปัจจุบันChiwii มีแพทย์คอยให้คำแนะนำด้านสุขภาพกว่า 22 สาขาเฉพาะทาง ครอบคลุมเด่น ๆ ที่มีความต้องการสูงเช่น ด้านสุขภาพผู้หญิง แม่ และเด็ก สุขภาพจิต และการดูแลสุขภาพกายของคนในครอบครัว ด้วยแนวคิดหลักในการให้ความใส่ใจ และการเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวของคนไข้ ให้การดูแลพูดคุยปรึกษาอย่างเป็นกันเอง โดยค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสำหรับการโทรศัพท์หรือ video call จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 15 นาที/ ราคา 400 – 500 บาท

4. แอปพลิเคชัน Doctor Anywhere Thailand”
ที่เป็นการลงทุนโดยบริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เล็งเห็นโอกาส และช่องว่างในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิต และพัฒนาแอปพลิเคชัน Doctor Anywhere และโรงพยาบาลพระราม 9 เป็นพันธมิตรหลักในการพัฒนาระบบตัวนี้ ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และปิดช่องว่างความกังวลของกลุ่ม Expat หรือกลุ่มชาวต่างชาติที่ประกอบอาชีพ และอาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มผู้บริหารชาวไทย เพื่อให้สิทธิประโยชน์ และบริการเสริมต่าง ๆ มากมาย ที่บริษัท และพันธมิตรรายใหญ่ดังที่ได้กล่าวมาเตรียมมอบไว้ให้

และทั้งหมดนี้ก็เป็นสาระความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับเทรนด์สุขภาพใหม่ในยุคดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่สนใจ ที่ทางเว็บเราได้รวบรวมนำมาฝากกัน อันว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่คงประเสริฐยิ่งกว่าหากเกิดในยุคสมัยที่เวลาเจ็บป่วยแล้วได้รับการดูแลรักษาที่สะดวก รวดเร็ว ทันที ทุกพื้นที่ ทุกเวลา และมีประสิทธิภาพทางการรักษาสูงตามเทคโนโลยีที่ก้าวไปไม่หยุดในยุคนี้

อ้างอิง :
1. prachachat 2. techsauce 3. scb


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close