แพทย์เตือน หน้าร้อนต้องระวัง “หวัดแดด” – สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

แสงแดดอันแผดเผาของบ้านเราในช่วงนี้ เรียกได้ว่ามีดีแค่เอาไว้ตากผ้ากันเลยทีเดียว เพราะนอกจากรังสียูวีในแดดจะทำร้ายผิวของเราแล้ว อุณหภูมิที่ร้อนจัด ก็ยังทำให้เสียสุขภาพได้อีกด้วย เพราะอุณหภูมิสูง ๆ จากแดดร้อน ๆ ก็สามารถทำให้คุณเป็น “หวัดแดด” ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทำงานกลางแจ้งต้องระวังอย่างยิ่ง แต่เหล่ามนุษย์เงินเดือนในห้องแอร์ ก็ชะล่าใจไม่ได้เช่นกันนะ!

ดีคอลเจน

หวัดแดด หรือ ไข้หวัดแดด (Summer Cold) คืออะไร?

หวัดแดด (โรคหวัดในฤดูร้อน) คือการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจในช่วงหน้าร้อน (เป็นเชื้อในกลุ่มไข้หวัดใหญ่) มักเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน ยิ่งอากาศร้อนมาก ก็ยิ่งทำให้ตัวร้อนมากขึ้น ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นไข้สูง เพราะร่างกายระบายความร้อนยากขึ้น

ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น และอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ ปิดเทอม (โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์) หลายครอบครัวต่างพากันเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้าน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ (ตั้งแต่จมูก คอ หลอดลมไปจนถึงปอด) และเป็นที่มาของไข้หวัดแดดได้

ข้อควรรู้ที่หลายคนเข้าใจผิด : เราไม่ได้เป็นหวัดเพราะโดนแดด แต่เราเป็นหวัดเพราะติดเชื้อไวรัสที่อยู่ตามอากาศ โดยมีแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการได้มากขึ้น

อย่าประมาท! หวัดแดด เป็นได้ทุกวัย

ไข้หวัดแดดนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่สามารถป่วยเป็นไข้หวัดแดดได้มากกว่าปกติ คือ

  • ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร นักกีฬา เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ต้องเข้าออกไปมาบ่อย ๆ ระหว่างสถานที่เย็นจัด ไปร้อนจัด
  • ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง, คนอ้วน, ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ, ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง

ปัจจัย 4 ประการ ทำให้เจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า การเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม 4 ประการ ได้แก่

  1. อุณหภูมิของอากาศที่ร้อน
  2. ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น
  3. การอยู่กลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่อาจได้รับรังสีความร้อน
  4. สภาวะที่มีลม หรือการระบายอากาศน้อย

อาการไข้หวัดแดด มีอะไรบ้าง?

– ตัวร้อน มีไข้รุม ๆ แต่ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส

– ปวดศีรษะ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

– ตาแดง อาจมีอาการปวดแสบที่กระบอกตา ซึ่งกรณีนี้ต้องระวังมาก เพราะเป็นอาการแสดงว่าร่างกายสะสมความร้อนไว้มาก จนร่างกายเริ่มรับไม่ไหวแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์

– ริมฝีปากแห้ง แข็ง แต่ไม่แตกลอก ปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ แต่ไม่ถึงกับเจ็บคอ

– ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นตะคริว

– ปากจืด ปากขม เบื่ออาหาร กินอะไรก็ไม่อร่อย คลื่นไส้ อาเจียน

– นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ

– ปั่นป่วนท้อง ท้องเสีย ขับถ่ายไม่ปกติ เช่น ถ่ายไม่เป็นเวลา ถ่ายยาก ปัสสาวะกะปริบกะปรอย เวลาปัสสาวะจะรู้สึกมีความร้อนสูงออกมาด้วย

หวัดแดด กับ หวัดธรรมดา ต่างกันตรงไหน?

หากอยากรู้ว่าตนเองป่วยเป็นหวัดธรรมดา (common cold) หรือว่าเป็นไข้หวัดแดดกันแน่ ก็สามารถสังเกตอาการเด่น ๆ เพื่อแยกโรคได้ ดังนี้

ไข้หวัดธรรมดา – มีไข้ ปวดศีรษะ เป็นหวัด เป็นหวัดปวดหัว คัดจมูกมาก อ่อนเพลีย และ มีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล มีเสมหะร่วมด้วย

ไข้หวัดแดด – จะเกิดจากร่างกายสะสมความร้อนเอาไว้มาก จนระบายออกไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะมาก ตาแดง แต่ไม่ค่อยคัดจมูก มีน้ำมูก หรืออาจมีน้ำมูกใสเล็กน้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึกขมปาก คอแห้ง แสบคอแทน

หวัดแดด

การรักษา และป้องกันไข้หวัดแดด

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า หวัดแดดเกิดขึ้นจากเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัดใหญ่ แนวทางการรักษาจึงคล้ายกับวิธีรักษาไข้หวัด ดังนี้

รับประทานยา แก้ปวด ลดไข้

– หมั่นเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อระบายความร้อนภายใน

– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรนอนดึกเกินไป

– หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด ควรพกร่ม หรือใส่เสื้อคลุมกันแดด หากต้องอยู่กลางแจ้งนาน ๆ

– หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ผู้คนแออัด

– ช่วงที่อากาศร้อน ควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เนื้อผ้าไม่หนาเกินไป สีอ่อน และระบายอากาศได้ดี

– ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว และทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เพื่อช่วยป้องกันหวัด

อ่านเพิ่มเติม – ผักผลไม้วิตามินซีสูง เพื่อสุขภาพดี ๆ ห่างไกลหวัด

• รักษาสุขภาพอนามัยให้ดี สวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอที่ต้องออกนอกบ้าน เพื่อลดการรับเชื้อโรคเข้าสู่ทางเดินหายใจ ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร

• ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ สัปดาห์ละ 3 ครั้งอย่างน้อย เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง

เมื่อไหร่ที่ควรเข้าพบแพทย์

ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบเข้าพบแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

  • มีไข้สูงเกิน 39.4 องสาเซลเซียส
  • มีอาการไอ มีเสมหะบ่อย ๆ
  • หายใจสั้นลง
  • มีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อหายใจเข้า
  • เวียนหัว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • มีผื่นขึ้นตามตัว
  • มีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง

 

อ้างอิง : 1. สสส. 2. matichon 3. healthline 4. พบหมอรามาฯ 5. uptownallergyasthma

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close