4 เทคนิคตรวจทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงพิการ

เทคนิคตรวจทารกในครรภ์

การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง มาดูกันว่า 4 เทคนิคตรวจทารกในครรภ์ จะมีอะไรบ้าง และข้อควรรู้อื่น ๆ ที่แม่ตั้งครรภ์มือใหม่ควรศึกษาไว้

4 เทคนิคตรวจทารกในครรภ์ เช็กสุขภาพลูก

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจเช็กความสมบูรณ์ของการตั้งครรภ์ ทั้งตัวคุณแม่เอง และทารกในครรภ์ สำหรับสุขภาพ ความแข็งแรงของลูก ลูกมีความเสี่ยงกับโรคพันธุกรรมอะไรบ้าง สามารถตรวจได้ด้วยวิธีการดังนี้

1. อัลตราซาวด์ (Ultrasound)

เทคนิคตรวจทารกในครรภ์

อัลตราซาวด์ คือ คลื่นเสียงความถี่สูงที่เกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน (มากกว่า 20,000 เฮิซร์ต) เมื่อมีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงออกมาจากหัวตรวจ ผ่านลงสู่ผิวหนังเข้าไปยังอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจ เมื่อเสียงกระทบเนื้อเยื่อ เกิดการสะท้อน การดูดกลับของเสียง และถูกแปลผลออกมาเป็นภาพได้

การอัลตราซาวด์ เป็นวิธีการตรวจครรภ์ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่การอัลตราซาวด์ไม่ได้มีประโยชน์แค่การดูเพศลูก หรือ รูปร่างหน้าตาของลูกเท่านั้น

ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ สามารถตรวจได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก แต่หากไม่มีข้อบ่งชี้ความผิดปกติก็ไม่จำเป็นต้องตรวจก็ได้ ช่วงอายุครรภ์ที่แม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรตรวจ คือ ช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์

วิธีการตรวจ

การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นวิธีการที่ไม่ต้องมีการเตรียมตัวใด ๆ ยกเว้นในอายุครรภ์น้อย ๆ คือ กรณีอายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือน อาจต้องดื่มน้ำหลาย ๆ แก้ว และกลั้นปัสสาวะ เพื่อให้มีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

ส่วนใหญ่ การอัลตราซาวด์ จะเป็นการตรวจผ่านทางหน้าท้อง จะมีการทาเจลใส ๆ บริเวณที่จะวางหัวตรวจลงไป ทำให้เห็นภาพของมดลูก ทารก รก น้ำคร่ำ หรือ อวัยวะอื่น ๆ ปรากฏบนหน้าจอภาพ

ตรวจดูอะไรบ้าง

– ดูจำนวนทารก อายุครรภ์ ตำแหน่งการฝังตัวว่าในหรือนอกมดลูก การมีชีวิตของทารก
– ความผิดปกติบริเวณรังไข่ หรือท่อนำไข่
– ตรวจดูความพิการบางอย่าง เช่น ไม่มีกะโหลกศีรษะ
– ดูความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายทารก ได้แก่ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง ใบหน้า โครงกระดูก แขนขา มือเท้า ทรวงอก เนื้อปอด หัวใจ ผนังหน้าท้อง ดูอวัยวะหลักภายในช่องท้อง ได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

ใครบ้างที่ควรตรวจ

– แม่ตั้งครรภ์ที่ก่อนตั้งครรภ์ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือตั้งครรภ์ขณะใช้ยาคุมกำเนิด
– ตั้งครรภ์ มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออก สงสัยว่าอาจจะแท้ง หรือท้องนอกมดลูกได้
– ต้องการคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ โดยวัดจากความหนาของผนังคอ
– แม่ตั้งครรภ์ทุกคน ในช่วงไตรมาสที่ 2

2. การตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis)

เทคนิคตรวจทารกในครรภ์

เป็นการนำเซลล์ของทารกที่ปนอยู่ในน้ำคร่ำไปตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค ได้แก่ โครโมโซมผิดปกติ โรคทางพันธุกรรม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ค่อนข้างแพร่หลายในการตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ ผลการตรวจมีความแม่นยำสูงกว่า 99%

ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ ช่วงอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ (ช้าสุด ไม่ควรเกิน 20 สัปดาห์)

วิธีการตรวจ
อัลตราซาวด์วัดสัดส่วนของทารก และค้นหาความพิการแต่กำเนิดที่อาจพบได้
เลือกตำแหน่งของการเจาะน้ำคร่ำให้เป็นบริเวณที่เป็นน้ำคร่ำล้วน ๆ โดยไม่มีส่วนของทารกมาขัดขวาง
พยายามเลือกตำแหน่งการแทงเข็มไม่ให้ผ่านรก (ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงได้)
จากนั้นจึงทำการเจาะโดยใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ โดยใช้เข็มชนิดเดียวกับที่ใช้เจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal needle) เจาะผ่านทางหน้าท้องมารดาโดยมองเห็นแนวเข็มที่เจาะอยู่ตลอดเวลาผ่านการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
ขั้นแรกให้ดูดน้ำคร่ำทิ้งประมาณ 2 ซีซี เนื่องจากอาจปนเปื้อนกับเซลล์ของมารดาได้มาก และทำให้การแปลผลคลาดเคลื่อนได้
จากนั้นจึงดูดน้ำคร่ำออกมาเป็นจำนวน 8 ซีซี ทั้งหมด 2 กระบอกฉีดยาเพื่อส่งตรวจโครโมโซม (รวมปริมาณน้ำคร่ำทั้งหมดที่ส่งตรวจเป็น 16 ซีซี)

ตรวจดูอะไรบ้าง?

ตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ว่าเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่
ตรวจโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่วินิจฉัยก่อนคลอดได้ เช่น ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) (โรคโลหิตจางชนิดหนึ่ง)
ตรวจสารเคมีบางอย่างในน้ำคร่ำ เพื่อวินิจฉัยหาโรค เช่น โรคไขสันหลังเปิด

ใครบ้างที่ควรตรวจ

แม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ณ วันกำหนดคลอด
มีความเสียงสูงจากผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทารกดาวน์ซินโดรม
เคยตั้งครรภ์ แล้วลูกมีความผิดปกติของโครโมโซม
พ่อแม่เสี่ยงที่จะมีทารกเป็นโรคธาลัสซีเมียอย่างรุนแรงทั้งคู่
อัลตราซาวด์พบว่าทารกมีความผิดปกติ

3. การตรวจ Non – Stress Test, NST

ทารกในครรภ์

การตรวจ NST เป็นวิธีการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ที่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของทารก เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่มีข้อห้ามในการทำ และยังเชื่อถือได้ค่อนข้างมากในปัจจุบัน

ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ ช่วงอายุครรภ์ 30-32 สัปดาห์ขึ้นไป ยกเว้นบางรายที่อาจทำตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

วิธีการตรวจ

– คุณหมอจะนำเครื่องอิเลคโทรนิคสำหรับฟังเสียงหัวใจทารก และวัดการบีบรัดตัวของมดลูก
ตรวจดูการสนองของอัตราการเต้นหัวใจในขณะที่ทารกเคลื่อนไหว มาคาดติดไว้ที่หน้าท้อง เครื่องจะทำการบันทึกผล

– ระหว่างนี้จะมีการบันทึกการดิ้นของลูกด้วย โดยแม่จะเป็นเป็นคนกดเครื่องเองเมื่อลูกมีการดิ้น เคลื่อนไหว หรือให้เครื่องเป็นตัวบันทึก

– การตรวจ NST จะใช้เวลาวัด และบันทึกอย่างน้อย 20 นาที จึงนำผลมาอ่านค่าผลจากกราฟที่บันทึกได้ ผลการตรวจจะบอกได้ว่าทารกอยู่ในสภาวะปกติหรือผิดปกติ

ตรวจดูอะไรบ้าง ตรวจดูสุขภาพลูกว่าอยู่ในสภาวะปกติไม่ขาดออกซิเจน ออกซิเจนไปเลี้ยงทารกปกติหรือไม่

ใครบ้างที่ควรตรวจ Non – Stress Test, NST

  • แม่ที่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้น
  • ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้ากว่าอายุครรภ์
  • ตรวจพบว่าน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ
  • ตั้งครรภ์เกินกำหนด (42 สัปดาห์)
  • แม่ตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย
  • มีประวัติทารกตายคลอด
  • แม่ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป

4. การตรวจชิ้นเนื้อรก (Chorionic Villus Sampling, CVS)

การเก็บตัวอย่างเนื้อรก เป็นการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่ทำได้เร็วกว่าการเจาะถุงน้ำคร่ำ โดยจะกระทำในระยะที่รกเริ่มเกาะแน่นพอที่จะไม่เกิดการแท้งได้ แต่การตรวจตัวอย่างเนื้อรกนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยม คุณหมอจะพิจารณาทำในบางรายเท่านั้น เช่น กรณีที่ไม่สามารถเจาะถุงน้ำคร่ำได้

ตรวจดูอะไรบ้าง ตรวจหาความผิดปรกติทางพันธุกรรมของทารก เช่น ตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นต้น

ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ สามารถทำได้ในช่วงอายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์

วิธีการตรวจ

– เจาะผ่านทางหน้าท้องมารดา โดยเริ่มจากหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการเจาะ ฉีดยาชาบริเวณนั้น

– จากนั้นใช้เข็มชนิดที่ใช้เจาะน้ำไขสันหลัง เจาะผ่านหน้าท้องมารดาไปยังตำแหน่งรก โดยไม่ให้เจาะผ่านถุงน้ำคร่ำและไม่โดนตัวทารกในครรภ์

– ต่อกระบอกฉีดยาซึ่งมีน้ำเกลืออยู่ภายในเล็กน้อย ประมาณ 1-2 ซีซี เข้ากับเข็ม ดึงกระบอกฉีดยาให้เกิดเป็นแรงดันสูญญากาศภายใน

– จากนั้นจึงทำการขยับเข็มขึ้นลง 2-3 ครั้ง เพื่อให้เนื้อเยื่อของรกส่วนที่จะนำมาตรวจหลุดออกจากรกโดยรอบ แล้วจึงดึงเข็ม และกระบอกฉีดยาออกพร้อมกัน โดยยังรักษาให้เกิดแรงดันสูญญากาศภายในตลอดเวลา จะพบว่าได้ชิ้นส่วนของเนื้อรกติดมาในกระบอกฉีดยาด้วย

ทารกในครรภ์

ใครบ้างที่ควรตรวจ

แม่ตั้งครรภ์ที่อายุตั้งแต่ 35 ปี ณ วันที่คลอด
มีความเสียงสูงจากผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทารกดาวน์ซินโดรม
เคยตั้งครรภ์ แล้วลูกมีความผิดปกติของโครโมโซม

เทคนิคดูแลทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงโรคร้าย

นอกจากการตรวจทั้ง 4 วิธีแล้ว ยังมีวิธีการอื่นที่สามารถทำได้ แต่นอกจากการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์แล้ว สิ่งสำคัญคือ การดูแลตัวเองของแม่ท้องเองด้วย

– กินวิตามินให้ครบ วิตามินคนท้อง ที่หมอให้มาควรกินอย่างสม่ำเสมอ แม่หลายคนกิน ๆ หยุด ๆ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ช่วงตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องการวิตามิน แร่ธาตุ เพิ่มขึ้นจากคนทั่วไป เช่น โฟลิค ธาตุเหล็ก

– กินให้ดี กินให้ครบ 5 หมู่ อาหารบำรุงแม่ท้อง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตอนตั้งครรภ์ ต้องกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ช่วงที่ร่างกายของคุณแม่ ต้องการสารอาหาร และวิตามินแร่ธาตุที่มีประโยชน์มากขึ้น

– ทำใจให้สบาย ไม่เครียด ความเครียดส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในท้องได้ ถ้าแม่ไม่เครียด อารมณ์ดี จะช่วยให้ลูกแข็งแรง รวมทั้งพัฒนาการ สมอง สติปัญญา คลอดออกมาเป็นเด็กฉลาดด้วย

– ออกกำลังกายสม่ำสเมอ ถึงจะตั้งครรภ์ แต่แม่ท้องก็สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และการออกกำลังกายยังช่วยให้เลือดหมุนเวียนดี ลดความเครียด้วย

 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close