อัพเดท! ประเด็นร้อน “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” อันตราย รุนแรง แพร่เร็วแค่ไหน?

โควิดสายพันธุ์อังกฤษ

ประเด็นร้อนแรงที่สุด ณ ขณะนี้ คงหนีไม่พ้น การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ หรือ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” และได้รับการรายงานผลการตรวจจาก รพ.จุฬาฯ จำนวน 24 คน ว่ามีสัดส่วนประมาณ 70% มาจากการติดเชื้อ โควิดสายพันธุ์อังกฤษ ที่ว่ากันว่าระบาดเร็ว-หาเชื้อยาก!!

โควิดสายพันธุ์อังกฤษ จะรุนแรง อันตราย และแพร่ระบาดได้เร็วขนาดไหน GedGoodLife มีคำตอบมาให้แล้ว มาติดตามกันเลย!

โควิดสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 พบครั้งแรกที่ไหน?

“ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.7” หรือ “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” นั้น พบครั้งแรกในอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน 2563 ก่อนแพร่กระจายไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก (ตามรายงานข่าวจาก reuters)

3 มกราคม 2564 พบโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ครั้งแรกในไทย!

วันที่ 3 ม.ค. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan โดยระบุว่า…

“ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7” ได้ในประเทศไทย

เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน มาจากประเทศอังกฤษ สายพันธุ์นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่าย และกระจายอย่างรวดเร็ว ในครอบครัวนี้ก็ติดหมดทั้ง 4 คน”

อ่านเพิ่มเติม “ตอบประเด็นร้อน COVID-19” โดย ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ

โควิดสายพันธุ์อังกฤษ


ความน่ากลัวของ โควิดสายพันธุ์อังกฤษ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวถึงความน่ากลัวของ โควิดสายพันธุ์อังกฤษ ไว้ว่า

  1. แพร่กระจายได้เร็วมาก มากกว่าสายพันธุ์ปกติ 1.7 เท่า
  2. การติดเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการน้อย แต่ไวรัสในลำคอจะมีปริมาณมาก
  3. มีโอกาสนำเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย
  4. ในผู้สูงวัย มีโอกาสเกิดปอมบวมได้สูง มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศอังกฤษ (ONS) ได้เผยข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 พบว่า

  • ผู้ติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการบกพร่องด้านการรับกลิ่น และรส
  • แต่พบว่ามี อาการไอ เจ็บคอ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนแรง และมีไข้มากกว่า
  • ไม่พบความแตกต่างทางจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการปวดหัว หายใจขัดข้อง ท้องเสีย และอาเจียน

ศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ยัง (Lawrence Young) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษ อธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงทางโปรตีนของโครงสร้างไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ย่อย B.1.1.7 ส่งผลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และอาจเป็นเหตุทำให้มีอาการเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ต่างกัน”


โควิดสายพันธุ์อังกฤษ ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 1.7 เท่า!!

จากข่าวการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการตรวจพันธุกรรม SARS –CoV-2 จากตัวอย่าง ด้วยวิธี Specific probe Real Time RT-PCR เพื่อแยกสายพันธุ์อังกฤษ กับสายพันธุ์ปกติ (Wild type)

แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์ที่พบในการระบาดขณะนี้ของ บางแค สถานบันเทิงทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่จะทำให้เกิดการระบาดได้รวดเร็วกว่า สายพันธุ์ปกติ 1.7 เท่า และปริมาณไวรัสในผู้ป่วยถึงแม้ไม่มีอาการ จะมีปริมาณไวรัสที่สูงมาก จากการสังเกตจากค่า Ct ของสายพันธุ์สถานบันเทิง ก็เห็นได้ชัด มีค่า ct ต่ำ แสดงว่าไวรัสมาก

 

3 ปัจจัย ที่ทำให้โควิดแพร่กระจายเร็ว ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ให้ข้อมูล การแพร่ระบาดของโควิดในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ไว้ดังนี้

“คลัสเตอร์ใหม่ในผับ บาร์ ที่ติดกันรวดเร็ว คงไม่น่าใช่จาก Droplet หรือ ป้ายหน้าป้ายตากันแล้วหล่ะครับ เมื่อสามปัจจัยนี้อยู่ครบสามารถคาดหวัง airborne transmission ได้ :

  1. COVID – เชื้อโควิด19
  2. Indoor dining – การรับประทานอาหารภายในร้าน
  3. Poor ventilation – การระบายอากาศไม่ดี

ดร. อนันต์ เสริมต่อว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพไม่ดีต่อสายพันธุ์นี้ (โควิดสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7) ถ้าเป็นไปได้ฉีด AstraZeneca ให้เค้าดีกว่าครับ ลดลงเหมือนกัน แต่ไม่มากเท่า…ดีที่สุดเท่าที่มีตอนนี้ครับ”

คลิปวิดีโอจำลองการแพร่เชื้อโควิด-19 ภายในร้านอาหาร

ขอบคุณคลิปวิดีโอจาก : sciencedirect.com


“หมอธีระวัฒน์” เผย “โควิดระบาดรอบ 3” แล้ว!!

วันที่ 6 เมษายน 64 ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการระบาดของ โควิดสายพันธุ์อังกฤษ ไว้ว่า…

“ระลอก 3 ขณะนี้ เข้าตามคุณสมบัติ แล้ว คือ คนติดเชื้อไม่มีอาการ กระจายไปทั่วแล้ว รอสัญญาณสุดท้าย การออกอาการ ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ที่เป็นอาการหนัก”

และในวันที่ 7 เมษายน คุณหมอธีระวัฒน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ระลอก 3 ผลพวง จากการ”บวมเต็มที่”

“ระลอก 3 คราวนี้ เป็นการ “บวม” เต็มที่ของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ ปี 2563 และน่าจะมีได้ในหลายพื้นที่ ในหลายจังหวัด ด้วยความหนาแน่นลดหลั่นกันไป
ทั้งนี้จะควบรวมกับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการสายสมุทรสาคร ที่แม้ว่าจะกักตัวแล้วแต่ไม่ได้แยกตัว การแพร่ก็จะออกไปได้จนเต็มพื้นที่
ดังนั้นจะไม่สามารถสร้างเส้นทางโยงใย ของการแพร่เชื้อได้ รอดูภาวะ บวมเต็มที่ เหล่านี้ว่าจะพัฒนาเป็นอาการหนัก ในแต่ละกลุ่มที่ติดเชื้อหรือไม่”

โควิดสายพันธุ์อังกฤษ


อ้างอิง :
1. หมอยง 2. ดร.อนันต์ 3. หมอธีระวัฒน์ 4. nsm 5. theguardian

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close