14 โรคติดต่ออันตราย! ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

โรคติดต่ออันตราย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายคนตื่นตระหนกกับคำว่า “โรคติดต่อ” เพราะโรคติดต่อเป็นโรคที่ยากจะควบคุม ยิ่งถ้าเกิดการระบาดในกลุ่มใหญ่แล้ว ก็จะยิ่งทวีความร้ายแรงเหมือนที่เรากำลังได้รับผลกระทบกันอยู่ทุกวันนี้! และวันนี้ GedGoodLife จะพาทุกคนไปรู้จักกับ 14 โรคติดต่ออันตราย ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ว่ามีโรคอะไรเข้าข่ายบ้าง จะคุ้นหูคุ้นตากันบ้างหรือเปล่า มาติดตามกันเลย

ดีคอลเจน

ความหมายของ โรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่ออื่น ๆ

1. โรคติดต่อ (Communicable disease)
โรคที่เกิดจากเชื้อโรค หรือพิษของเชื้อโรค ซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรง หรือทางอ้อมมาสู่คน

2. โรคติดต่ออันตราย (Dangerous communicable disease)
โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง และสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว

3. โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (Communicable disease under surveillance)
โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

4. โรคระบาดตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ (Communicable Diseases Act, B.E. 2558 (2015))
โรคติดต่อ หรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา

การกำหนดโรค

  • โรคติดต่อ -> เกิดขึ้นโดยผลของนิยามตามมาตรา 4
  • โรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง -> รัฐมนตรีประกาศ
  • โรคระบาด -> กำหนดโดย อธิบดีประกาศเมื่อมีสถานการณ์

“COVID-19” โรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14

โรคติดต่ออันตราย

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข มีมติเห็นชอบให้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ลำดับที่ 14


โรคติดต่ออันตราย 14 โรค

รายชื่อ โรคติดต่ออันตราย ทั้ง 14 โรค ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีดังนี้

1. กาฬโรค (Plague)

เป็นโรคที่พบในประเทศต่าง ๆ ของทวีปแอฟริกา และเอเชีย โดยมีการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว ประเทศไทยมีรายงานการระบาดครั้งแรกทางฝั่งธนบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากหนูที่มีเชื้อกาฬโรคติดมากับเรือสินค้าที่มาจากอินเดีย แต่หลังจากปี 2495 ก็ไม่มีรายงานการเกิดกาฬโรคในประเทศไทยอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

การติดต่อ : เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่มีแหล่งรังโรค คือ สัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู เป็นต้น และมีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค เมื่อหมัดหนูมากัดคนแล้วปล่อยเนื้อกาฬโรคเข้าทางบาดแผล หรือผิวหนังที่ถลอกจากการเกาบริเวณที่ถูกหมัดหนูกัด

อาการ : มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน

2. ไข้ทรพิษ (Smallpox)

โรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) พบครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นโรคที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า ไข้ทรพิษถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว

การติดต่อ : เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะคนเท่านั้น การติดต่อมักเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ทางสายรกจากแม่สู่ลูก

อาการ : มีตุ่มที่ผิวหนัง มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก ปวดหลังรุนแรง

3. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean – Congo hemorrhagic fever)

เกิดจากเชื้อบันยาไวรัส (Bunya virus) เป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล พบได้ในหลายทวีปทั่วโลก

การติดต่อ : เชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยถูกเห็บที่มีเชื้อไวรัสกัด หรือจากการจับต้องเห็บ บี้เห็บ ด้วยมือเปล่า และสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนด้วยการสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย

อาการ :อาการไข้เฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง เลือดคั่ง ตาอักเสบบวมแดง เป็นต้น

4. ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever)

เกิดจากไวรัสเวสต์ไนล์ เป็นเชื้อไวรัสที่อยุ่ในกลุ่มเดียวกับโรคไข้สมองอักเสบ แต่ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย

การติดต่อ : เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ จะพบในยุงรำคาญ ในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีการติดต่อของโรคนี้ จากคนสู่คนโดยตรง

อาการ : มีทั้งแบบแสดงอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น มีเหงื่อออก มีผื่นที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นต้น และไม่แสดงอาการ พบร้อยละ 80

5. ไข้เหลือง (Yellow fever)

ไข้เหลืองโรคติดต่ออันตรายที่เฉียบพลัน มีความรุนแรง และมีอัตราตายสูง พบได้ในบางบริเวณของทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้

การติดต่อ : เกิดจากเชื้อไวรัสไข้เหลือง มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อจากผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เหลืองไปสู่คนปกติ

อาการ : ไข้สูงเฉียบพลันเป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน ปวดศีรษะ ปวดหลัง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีเลือดกําเดา เลือดออกในปาก และถ่ายเป็นเลือด จะมีอาการ ตัวเหลือง หรือตาเหลืองในระยะแรก อาจมีอาการมากขึ้นในระยะต่อมา และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

6. โรคไข้ลาสซา (Lassa fever)

เป็นโรคในแถบแอฟริกาตะวันตก พบครั้งแรกปี พ.ศ. 2493 ที่โรงพยาบาลของประเทศไนจีเรีย การระบาดเกิดขึ้นในฤดูร้อน เกิดได้ทุกเพศวัย แต่ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย

การติดต่อ : เกิดจากเชื้อลาสซาไวรัส เกิดจากการได้รับเชื้อผ่านละอองฝอยในอากาศ สัมผัสโดยตรงกับของเสียที่ขับออกมาจากหนูที่ติดเชื้อ หรือติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย เช่น เสมหะ และปัสสาวะ เป็นต้น

อาการ : มีไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น

7. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease)

เป็นไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ โดยเฉพาะสุกร หรือ หมู การติดเชื้อในมนุษย์รายแรก เชื่อว่าเกิดใน ปี พ.ศ. 2539 แต่พบผู้ป่วยจริง ๆ ในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้โรคติดเชื้อไวรัสริปาห์ ไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทย

การติดต่อ : ค้างคาวกินผลไม้ เป็นแหล่งรังโรค และเป็นพาหะสำคัญของเชื้อไวรัสนิปาห์ แต่เชื้อไวรัสนี้ไม่ก่อโรคในค้างคาว ไวรัสนี้สามารถก่อโรคในสุกร และการแพร่โรคมาสู่คน ก็เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสุกรนั่นเอง

อาการ : มีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมองอักเสบ บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย หรืออาจมี อาการไข้ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ เดินโซเซ ซึม สับสน หรือชัก

8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)

โรคนี้ถูกพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2510 ในประเทศเยอรมนี และสหพันธ์สาธารณยูโกสลาเวีย จัดอยู่ในกลุ่มไข้เลือดออก ที่เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์ โดยมีค้างคาวกินผลไม้ เป็นแหล่งรังโรค

การติดต่อ : เชื่อว่าค้างคาวกินผลไม้ที่อาศัยอยู่ในถ้ำเป็นแหล่งรังโรค ผู้ป่วยรายแรก (index case) ที่เป็นต้นเหตุของการระบาด น่าจะเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับค้างคาว การติดต่อจากคนสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด ปัสสาวะ อาเจียน อุจจาระ อวัยวะ หรืออสุจิ เป็นต้น

อาการ : มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น

9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease – EVD)

เป็นโรคติดต่อเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา แพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก

การติดต่อ : ติดต่อจากคนสู่คน สัมผัสตรงกับเลือดที่ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ อวัยวะ หรือน้ำอสุจิ เป็นต้น

อาการ : มีไข้เฉียบพลัน อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเจ็บคอ ตามด้วยอาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น

10. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Handra virus disease)

เป็นโรคที่รุนแรงในคน และสัตว์แต่พบได้ไม่บ่อยนัก เชื้อไวรัสเฮนดราทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจของสัตว์โดยเฉพาะม้า

การติดต่อ : ค้างคาวกินผลไม้เป็นพาหะสำคัญของเชื้อไวรัสเฮนดรา การติดเชื้อในคนเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับม้า หรือผลิตภัณฑ์จากม้า หรือติดเชื้อจากการปนเปื้อนของสารคัดหลั่ง

อาการ : ปวดศีรษะ เจ็บคอวิงเวียน ซึม และสับสน หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ในระยะแรกมักจะพบอาการปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

11. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS)

เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา มีการระบาดครั้งแรกในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ต่อมาได้ระบาดในเวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันเพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นแพทย์ชาวอิตาลี และไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ที่ติดเชื้อภายในประเทศไทย

การติดต่อ : เกิดจากค้างคาว ซึ่งมีความสัมพันธุ์ใกล้ชิดกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด ที่แยกเชื้อได้จากคน และอีเห็น โดยอีเห็นเป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญของการติดต่อจากสัตว์สู่คน

อาการ : มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคปอดอักเสบ หรือภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

12. โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome – MERS)

เป็นโรคที่กระจายอยู่ในหลายประเทศในแถบตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาเหนือ และอเมริกาเหนือ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม โคโรนาไวรัส

การติดต่อ : แหล่งแพร่เชื้อในธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดโรคในคนยังไม่เป็นที่ทราบ แต่การแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนสามารถแพร่ผ่านทางละอองฝอยของผู้ป่วย จากการไอ และมักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่ได้มีการป้องกันตนเอง

อาการ : ไข้ ไอ หอบ บางรายมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงมักมีอาการแสดงของโรคปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อวัยวะล้มเหลว โดยเฉพาะไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (Extensively drug – resistant tuberculosis (XDR – TB))

เป็นวัณโรคที่มีการดื้อยา 4 ขนานร่วมกัน ได้แก่ ไอโชไนอะชิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) กลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) และกลุ่มยาทางเลือกที่สองที่เป็นยาชนิดฉีด (Second – line injectable drugs)

การติดต่อ : วัณโรคติดต่อโดยการสูดหายใจอากาศที่มีเชื้อเข้าไป ซึ่งเชื้อโรคนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี แต่ไม่ทนทานต่อแสงแดด

อาการ : มีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบการหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคติดต่ออันตราย

14. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

โรคโควิด-19 คือโรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุด ไวรัสและโรคอุบัติใหม่นี้ไม่เป็นที่รู้จักเลยก่อนที่จะมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในเดือนธันวาคมปี 2019 ขณะนี้โรคโควิด-19 มีการระบาดใหญ่ไปทั่ว ส่งผลกระทบแก่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

การติดต่อ :โรคนี้สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูก หรือปาก ซึ่งออกมาเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไอ จาม หรือพูด

อาการ :ไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น และอ่อนเพลีย อาการที่พบน้อยกว่าแต่อาจมีผลต่อผู้ป่วยบางรายคือ ปวดเมื่อย ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง หรือผื่นตามผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนตามนิ้วมือนิ้วเท้า อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและค่อย ๆ เริ่มทีละน้อย บางรายติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง


8 วิธี ป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ

  1. หลีกเลี่ยงการคลุกคลี ใกล้ชิด และใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยโรคระบาด
  2. ใช้ผ้า หรือกระดาษทิชชู่ปิดปาก และจมูกทุกครั้ง เมื่อไอ จาม (ไม่ควรไอใส่มือ)
  3. หมั่นใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ถ้าต้องออกไปข้างนอก
  4. หมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น โอ่งน้ำ แจกัน ยางรถยนต์เก่า ๆ หลุมที่มีน้ำขัง
  5. รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ถูกสุขลักษณะ
  6. หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ
  7. ดื่มน้ำสะอาด ให้เพียงพอต่อร่างกายเรา
  8. ออกกำลังกายเป็นประจำสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

 

อ้างอิง : 1. w1.med.cmu.ac.th 2. ppho.go.th 3. pubhtml5.com

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close