การออกกำลังกาย เป็นกำไรชีวิต

ในวโรกาสต่าง ๆ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญ ความจำเป็น และคุณประโยชน์ของ การออกกำลังกาย และการเล่นกีฬา ดั่งพระราชปรารภที่อยู่ในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงปรัชญา และหลักการดำเนินชีวิตที่ว่า “ทุกคนเกิดมาก็ต้องมีภาระหน้าที่ จึงต้องตั้งใจ ขยันหมั่นเพียร พยายาม และอดทนในการปฏิบัติภารกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ใช้สติปัญญาความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ต้องมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเป็นพื้นฐานส่งเสริม เพราะหากมีเพียงความตั้งใจ มีสติปัญญาดี แต่สุขภาพอ่อนแอ ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดนิสัยการออกกำลังกาย ไม่รู้จักการเสริมสร้าง และบำรุงรักษาร่างกายปล่อยไปตามยถากรรมแล้วก็ย่อมเกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงาน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไปด้วย”

1041-walking ทรงออกกำลังพระวรกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังพระวรกายด้วยการเดิน

ตัวอย่างพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ มีดังนี้

“ …ร่างกายของคนเรานั้นธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉย ๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็จะเจริญคล่องแคล่ว อดทน ยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงไปไม่ได้ แต่จะค่อย ๆ หมดแรงลง และหมดสภาพไปก่อนเวลาอันควร

ดังนั้นผู้ที่ปกติมีการทำงานโดยไม่ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังให้พอเพียง ต่อความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้นจะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เขาจะใช้สติปัญญา ความสามารถของเขา ทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง และแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับอ่อนแอลงนั้น จะไม่อำนวยโอกาสให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ… ”

(พระราชดำรัสในโอกาสประชุมสัมมนาเรื่อง การออกกำลังเพื่อสุขภาพ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2523)

1041-badminton

“ … การกีฬานั้นเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า เป็นการบริหารร่างกาย ให้แข็งแรง ทั้งเป็นการฝึกอบรม จิตใจให้เป็นผู้ร่าเริง รู้จักแพ้และชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ให้อภัยซึ่งกันและกัน อย่างที่เรียกว่ามีน้ำใจเป็นนักกีฬา รวมความว่าผลของการกีฬา คือผลทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นยังจะส่งเสริมความสามัคคีกลมเกลียวกัน อันเป็นวัตถุประสงค์ที่พึงปรารถนายิ่ง… ”

(พระบรมราโชวาทในวันเปิดงานกรีฑาและศิลปหัถตกรรมนักเรียน ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2502)

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำรัสถึงความจำเป็น ความสำคัญ และหลักของการออกกำลังกายว่า

“ … การออกกำลังกาย ถ้าทำน้อยไป ร่างกายและจิตใจก็จะเฉา แต่ถ้าทำมากไป ร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ การออกกำลังแบบมีระบบ ทำให้ร่างกายแข็งแรงตลอดเวลา… ”

การออกกำลังกายให้หัวใจเต้นเร็วตามอัตราการคำนวณนั้น จะเป็นการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน หรืออากาศนิยม (Aerobic Exercise) เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะ การกระโดดเชือก การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ ฯลฯ

ความนาน คือ การออกกำลังกายให้มีอัตราการเต้นของหัวใจคงที่อยู่เช่นนั้นนาน ติดต่อกันอย่างน้อย 15-30 นาที
ความบ่อย คือ การออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง (ครั้งละวัน)

การออกกำลังกายตามหลักการดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมสร้าง รักษา และพัฒนาสมรรถภาพทางกาย อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีสุขภาพดี

ดร.วินิจ วินิจฉัยภาค รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับเล่าว่า

… เมื่อปี พ.ศ.2525 พระองค์ทรงพระประชวรไข้มีพระอาการแทรกซ้อนทางพระหทัย เมื่อพระอาการทุเลา ในช่วงเวลาพักฟื้นนั้น คณะกรรมการแพทย์ได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังพระวรกาย ด้วยการทรงพระดำเนินเร็ว หรือวิ่ง ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงกับการทำงานของพระหทัย พระองค์ได้ทรงปฏิบัติ สืบเนื่องอย่างสม่ำเสมอ คือการออกกำลังกายแบบอากาศนิยม หรือที่เรียกว่าแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise) สำหรับพระองค์จะทรงพระดำเนินเป็นระยะทางประมาณ 2,500 เมตร เวลาประมาณ 20 ถึง 22 นาทีเศษ ๆ หรือถ้าจะทรงจักรยานก็ประมาณ12 – 14 กิโลเมตร ระยะเวลา 24 ถึง 25 นาทีเศษ โดยมีความเร็วสูงสุด 42 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะเร่ง ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีเศษของการติดตามการออกกำลังพระวรกาย จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของชีพจร และความดันโลหิตมีความสัมพันธ์กับปริมาณการออกกำลังแต่ละครั้ง เป็นแบบฉบับที่สามารถยึดถือเป็นตำรา… ”

พระจริยวัตรตามคำบอกเล่าดังกล่าว ชี้ชัดว่าพระองค์ทรงออกกำลัง พระวรกายตามหลักการสากลได้อย่างถูกต้อง และได้ผลดี ที่ต่อมาภายหลังเราได้เห็นกันแล้วว่า พระองค์กลับมีพระพลานามัยแข็งแรงดั่งเดิม ในเวลาไม่นานนักหลังจากทรงพระประชวร

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close